“หมูเถื่อน” เป็นอีกหนึ่งคดีที่คาดว่าจะเป็นคดีมาราธอน จุดจบยังอีกยาวไกลเพราะจนถึงขณะนี้เวลาในการพิจารณาคดีล่วงเลยมานานเกือบ 2 ปี นับแต่เริ่มจับกุมผู้นำเข้าและดำเนินคดีตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยังไม่สามารถส่งฟ้องผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนได้แม้แต่รายเดียว ทั้งที่มีเอกสารและหลักฐานอยู่เต็มมือและครบถ้วน ซึ่งการปล่อยให้ผู้ต้องหาผลัดผ่อนการมาให้ปากคำเพิ่มเติมครั้งแล้วครั้งเล่าแบบไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งทำให้การนำตัวผู้ต้องหาขึ้นสู่การพิพากษาของศาลยิ่งริบหรี่ไปเรื่อยๆ แต่อย่าให้ความหวังในการลงโทษกลุ่มคนที่เชื่อมโยงในขบวนการหมูเถื่อนเป็นศูนย์เป็นอันขาด

นอกจากนี้ ยังเป็นที่แน่นอนแล้วว่าคดีหมูเถื่อนจะถูกพิจารณาเป็น “คดีนอกราชอาณาจักร” หรือ MLAT (Mutual Legal Assistance Treaty) และวิธีการนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 1 ปี  ในการเดินทางไปรวบรวมหลักฐานจากต้นทางประเทศส่งออกหมูเถื่อนมาประเทศไทย 7 ประเทศ อาทิ บราซิล อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น เบื้องต้น DSI ได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่สถานทูตบราซิลประจำประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และในขั้นตอนนี้มีอัยการเป็นผู้นำทีมในการดำเนินการ

การดำเนินคดีล่าช้า จนไม่สามารถส่งฟ้องผู้ต้องหาได้ และยังนำแนวทางคดีนอกราชอาณาจักรมาใช้ ยิ่งทำให้ผู้เลี้ยงและคนที่สนใจคดีนี้ตั้งคำถามหลายข้อ เช่น เหตุใดคดีหมูเถื่อนจึงลากยาว เอาผิดกับผู้ต้องหาไม่ได้สักที? สอบสวนกันมานานเกือบ 2 ปี ได้หลักฐานมากมายทั้งเอกสารการนำเข้า เอกสารที่สำแดงเท็จ ชื่อบริษัทนำเข้าและชิปปิ้ง พร้อม หลักฐานยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินคดีอีกหรือ? ทำไมต้องเดินทางไปตรวจสอบหลักฐานที่ประเทศต้นทางส่งออกหมูเถื่อน ทั้งที่หลักฐานที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรมีเพียง 10% ของความผิด ขณะที่อีก 90% เกิดขึ้นในประเทศไทย เหตุจึงไม่ประโยชน์จากหลักฐานเหล่านี้ เป็นคำถามพื้นฐานที่สังคมจับตาคดีนี้

หากติดตามคดีหมูเถื่อนต่อเนื่อง จะพบว่าคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ DSI แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. คดีหมูเถื่อนตกค้าง 161 ตู้ จับกุมผู้กระทำผิด 18 บริษัท ในจำนวนนี้ 10 คดี ส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสอบสวนต่อ  2. หมูเถื่อนสำแดงเท็จ 2,385 ใบขน ของกลาง 4,500 ตัน ออกไปจำหน่ายในประเทศ รอการตรจสอบเอกสารในต่างประเทศ MLAT 3. คดีนำเข้าซากสัตว์เถื่อน เนื้อวัว ตีนไก่ และเนื้อหมู จำนวน 10,000 ตู้ คดีไม่มีความคืบหน้า และ 4. ล่าสุดหมูเถื่อนตกค้างตั้งแต่ปลายปี 2566 จำนวน 17 ตู้ ของกลาง….ตัน มีทั้งผู้กระทำผิดรายเดิมและผู้กระทำรายใหม่ ซึ่ง DSI ดำเนินการฟ้องร้องต่อไป

คดีหมูเถื่อน ไม่ใช่ไม่มีการตัดสินจนถึงที่สุด หากย้อนไปดูการดำเนินคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเห็นได้ว่ามีการใช้หลักฐานที่สืบสวนและสอบสวนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีตามขั้นตอนตามกฎหมายไทยและทำอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของศาล มีการลงโทษผู้ต้องหาตามความผิดสูงสุดไปแล้ว 3 คดี ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถปิดคดีได้ โดยพุ่งเป้าไปที่ความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศ เอกสารหลักฐานที่รวบรวมได้ เช่น เส้นทางการเงินและการโอนเงินระหว่างผู้สั่งสินค้ากับผู้ส่งสินค้า รวมถึงหลักฐานจากการสอบปากคำผู้ต้องหา ก็สามารถดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องไปรวบรวมข้อมูลในต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตว่า เหตุใดคดีแบบเดียวกัน หนึ่งหน่วยงานรัฐสามารถเดินหน้าได้จนถึงที่สุด แต่อีกหนึ่งหน่วยงานขับเคลื่อนล่าช้า จนต้องสอบถามความคืบหน้ามาโดยตลอดเพราะคดีจะเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว และยังไม่เห็นจุดจบ

โดย….ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ