เมื่อวานเย็น น้องชายมาบอกว่า มีนกบินชนกระจกในกันตกบนดาดฟ้า ตาย
ขึ้นไปดูพบว่าเป็น นกตีทอง
ชื่อเดียวกับถนนที่บ้านผมตั้งอยู่

ความตั้งใจแรก อยากเขียนเรื่องนกในย่านนี้
คิดไปถึงนกที่เป็นนกเด่นมาในย่านนี้ ในอดีต คือนกพิราบ
นกพิราบ เสาชิงช้า ที่ทุกวันนี้ กลายเป็นตำนานไปเสียแล้่ว

ค้นความไปมา เลยกลายเป็นวันนี้ มาเขียนเรื่อง เสาชิงช้าไปได้

ดังนั้น วันนี้ ขอเล่าเรื่องเสาชิงช้ากันก่อนก็แล้วกัน
เสาชิงช้า
เสาชิงช้า ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม บนถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร ใกล้กับ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้าเป็น สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2327 เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพระนคร และเป็นการแสดงความกตัญญูต่อเทพ 3 องค์ ได้แก่ พระอิศวร พระพิฆเณศวร และพระนารายณ์ ใช้ประกอบพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ของ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือพิธีโล้ชิงช้า ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ โล้ชิงช้า ปัจจุบันมีอายุ 238 ปี

เสาชิงช้า ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ กรุงเทพมหานคร เพราะสร้างมาคู่กับการสร้างพระนคร
ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อสร้างพระบรมมหาราชวังเสร็จ จากนั้นมีการสร้างโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้า บริเวณริมถนนบำรุงเมือง ทางจะเลี้ยวไปถนนดินสอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 ตำแหน่งที่ตั้งของเสาชิงช้าสร้างขึ้นบนพื้นที่สะดือเมือง เป็นศูนย์กลางของพระนคร โดยวัดจากกำแพงเมืองด้านแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันตกถึงป้อมมหากาฬ

เสาชิงช้าที่ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ สูง 21.15 ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ฐานกลมประมาณ 10.50 ม. ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ปลายเป็นรูปทรงมัณฑ์ขนาบข้างละ 2 ต้น ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักฉลุอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทา สีแดงชาด ติด สายล่อฟ้า จากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายตำแหน่งที่ตั้งเสา มาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 บริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2463 และ มีการซ่อมใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2502 และมีการเปลี่ยนเสาใหม่โดยคงไว้ในลักษณะเดิมในปี พ.ศ. 2513 จากนั้นก็ยังไดัรับการซ่อมแซมบูรณะอีกหลายครั้ง

ในอดีตเสาชิงช้านี้เคยใช้ประกอบพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้าในศาสนาพราหมณ์ เพื่อเป็นการแสดงถึงการต้อนรับพระอิศวรในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ในเดือนยี่ของทุกปี แต่ต่อมาพระราชพิธีนี้ได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2478
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็น โบราณสถาน สำคัญของชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 นับตั้งแต่สร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2327 เป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ มีสีแดงชาด มีส่วนสูงประมาณ 21 เมตร

เนื่องจากเสาชิงช้ามีอายุการใช้งานมานาน แม้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เปลี่ยนเสามาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว สภาพเสาต้นเก่าชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากเสาชิงช้าเป็นสิ่งก่อสร้างสูงในย่านพระนคร จึงต้องติดตั้งสายล่อฟ้าไว้บนกระจังด้านบนลงดิน เพื่อป้องกันความเสียหาย กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 จึงได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์เสาชิงช้าใหม่ในปีพ.ศ.2548 โดยใช้ไม้สักทองที่มีลำต้นขนาดใกล้เคียงเสาชิงช้าเดิมจำนวน 6 ต้นจากจังหวัดแพร่ ซึ่งไม้สักทองถือว่าเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงตามความเชื่อตามคติแบบพราหมณ์ ลักษณะของไม้ที่นำมาทำเสาชิงช้าได้จะต้องมีเส้นรอบวงขนาดโคนไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ยอดมีเส้นรอบวงไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร และสูงไม่ต่ำกว่า 20 เมตร
และดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2549 ซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยน เสาชิงช้ามีอายุรวมประมาณ 222 ปี เสาต้นใหม่ ผ่านพิธีสมโภชน์ เมื่อวันที่ 11 – 13 กันยายน พ.ศ. 2550

นอกจากเสาชิงช้าที่กรุงเทพมหานคร ในประเทศไทยยังมีเสาชิงช้าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ หน้าหอพระอิศวร เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการประกอบพิธีโล้ชิงช้ามาแต่โบราณเช่นกัน แต่ได้เลิกไปก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง โดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้าที่ กรุงเทพมหานคร

5 ที่เที่ยวเสาชิงช้า ที่ไม่ควรพลาด
เสาชิงช้าเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตของชุมชนเก่าแก่บริเวณย่านนี้ และเพื่อมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถ่ายรูปเช็กอินสวยๆ

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นอาคารโบราณประดิษฐานเทวรูปพระพรหม ตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ มีอาคารทรงไทย 3 หลัง เป็นเทวสถานของพระอิศวร, พระพิฆเนศ และ พระนารายณ์ โดยมีแผ่นป้ายแสดงลำดับการเข้าสักการะเพื่อขอพรจากเทพเจ้า รวมถึงข้อห้ามและข้อปฏิบัติ

วัดสุทัศนเทพวราราม
วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2350 เดิมเรียกว่าวัดเสาชิงช้า ประดิษฐานองค์พระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ นามคล้องกันว่า “พระศรีศากยมุนี”, “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” และ “พระพุทธเสรฏฐมุนี”

วัดมหรรณพารามวรวิหาร
วัดมหรรณพารามวรวิหาร สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมหมื่นอุดมรัตนราษี หรือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ตามความเชื่อพุทธศาสนิกชนที่นิยมสร้างวัดในพระนครช่วงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็้นวัดที่น่าสนใจคือสร้างโดยสถาปัตยกรรมแบบไทยจีน ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสุโขทัย นามพระร่วงทองคำ

ชุมชนเสาชิงช้า
ชุมชนเสาชิงช้า ตั้งอยู่รอบพื้นที่เสาชิงช้า ประกอบด้วยบ้านเรือนของผู้ที่อยู่อาศัยสืบทอดกันมาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยบางหลังยังคงศิลปะแบบโบราณ ตั้งเป็นร้านค้า คาเฟ่ ที่น่าสนใจ ถ้าแวะมาย่านเสาชิงช้าอย่าลืมเดินเข้าไปชม

ศาลเจ้าพ่อเสือ
ศาลเจ้าพ่อเสือ สร้างขึ้นตามความเชื่อการตั้งศาลของชาวไทยเชื้อสายจีน ประดิษฐานเทพเจ้า เสียนเทียนซั่งตี้ และรูปเคารพของเทพเจ้ากวนอู และเจ้าแม่ทับทิม ตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนมักจะมาแก้ชงตามปีเกิด

เสาชิงช้า ร้านอาหาร ของกินอร่อยๆ
ย่านเสาชิงช้า ตั้งแต่ ถนนบำรุงเมือง ซอยนาวา ถนนศิริพงษ์ ถนนดินสอ ถนนมหรรณพ ถนนตะนาว
อาหาร มีให้เลือกทั้งอาหารจานหลัก เครื่องดื่ม และบรรยากาศคาเฟ่ให้ทุกคนได้มาแวะเวียนพักผ่อนถ่ายรูปเช็กอินสวยๆ หลังจากเดินไหว้พระ เที่ยวชมสถาปัตยกรรมของชุมชนย่านเสาชิงช้า แวะร้านอาหาร ร้านขนม ของทานเล่น ย่านเสาชิงช้า อาทิ

1. ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยตาชัย 119/1 ถนนบำรุงเมือง
2. ร้านอาหารนายอ้วนเย็นตาโฟ 41 ซอยนาวา
3. ภัตตาคาร ย่งฮั้ว 101 ถนนศิริพงษ์
4. ร้านข้าวเหนียว ก.พานิช 431 ถนนตะนาว
5. ร้านชูถิ่น (ขนมไทย) 177 2 ถนนตะนาว
6. ร้านข้าวมันไก่ไหหลำ เจ๊หย่ง 263 ถนนตะนาว ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ
7. กุ้ยช่ายคุณแม่ 520 ถนนตะนาว
8. ร้านอาหารจิตเตาถ่าน ผัดไทย 69 ถนนมหรรณพ
9. บ้านผัดไทย 105 ถนนมหรรณพ
10. ร้านอาหารนิยมโภชนา 109 ถนนมหรรณพ
11. ร้านแซ่พุ้น ข้าวหน้าไก่ 80 ปี 112 ถนนมหรรณพ
12. ร้านอาหารศิริพร โภชนา 152 ถนนมหรรณพ
13. ร้านอิ่มอร่อย 189 ถนนมหรรณพ
14. ร้านขนมปังขิง 47 ถนนดินสอ
15. ข้าวหมูแดงนายชุน 142 ถนนดินสอ
16. ร้านอาหารอร่อย 152 ถนนดินสอ
17. มนต์นมสด 160 ถนนดินสอ
18. ครัวอัปษร 169 ถนนดินสอ
19. ร้านอาหารมิตรโกหย่วน 186 ถนนดินสอ
20. ร้านอาหารครัวตรอกจันทน์ 212 ถนนดินสอ

เสาชิงช้า จอดรถที่ไหน
การเดินทางมายังเสาชิงช้า สามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีสนามไชย รถประจำทางสาย 12, 24 หรือรถปรับอากาศสาย 12 จอดรถยนต์ส่วนตัวได้ที่ถนนรอบวัดสุทัศน์ ถนนดินสอ และลานจอดเอกชนใกล้เคียง โดยสังเกตป้ายรับฝากรถ และป้ายจอดรถวันคู่ วันคี่

ข้อมูลที่มาเกี่ยวกับย่านนี้ คือ ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์