ตำรวจไซเบอร์ ร่วม สสจ.ชลบุรี บุกยึดกลูต้าปลอม ใช้ห้องพักในคอนโดฯ กลางเมืองบางละมุง เป็นแหล่งผลิตหลอกขายสายรักความงามในราคากระปุกละ 190 บาท อึ้งหนักพบกรรมวิธีผลิตใช้มือล้วนๆ โดยไม่รู้ส่วนผสมมีอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 พ.ต.ท.เอกภณ คณะญาพงศ์ รอง ผกก.2 บก.สอท.2 พร้อมด้วย ร.ต.อ.ภีมวัจน์ จิตต์สงวน รองสว.ปรก.กก.2 บก.สอท.2 ได้สนธิกำลังร่วมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.2 ภายใต้การนำของ พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท. และพ.ต.อ.จักรกฤช ศรีโรจนากูร ผกก.2 บก.สอท.2 รวมทั้งนายจิระสันต์ มีรัตน์ธนวัต เภสัชชำนาญการพิเศษ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้หมายค้นเข้าตรวจสอบภายในห้องพักเลขที่ 820/33 บี 209ภายในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งเขต อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

หลังได้รับแจ้งว่าสายลับว่า มีการจำหน่ายอาหารเสริมความงามที่มีการโฆษณาเกินความเป็นจริง จึงวางแผนจับกุมพร้อมขออนุญาตหมายค้น จากศาลจังหวัดพัทยา กระทั่งพบ น.ส.ณัฐกิจ เสมแย้ม อายุ 26 ปี พร้อมผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมความงาม ประเภทกลูต้าบำรุงผิวขาว ยี่ห้อ BLACK MAJIC จำนวนมากที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์เตรียมส่งจำหน่ายให้กับสายรักความงาม เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางเป็นอาหารเสริมยี่ห้อ BLACK MAJIC จำนวน 1,497 กระปุก สารที่ใช้เป็นส่วนผสมจำนวนหลายกิโลกรัม รวมทั้งอุปกรณ์บรรจุแคปซูล และแคปซูลสำหรับบรรจุจำนวนมาก

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าตกใจมากกว่าการยึดของกลางอาหารเสริมดังกล่าวก็คือ ภาพที่เจ้าหน้าที่เห็นขณะบุกเข้าตรวจค้นเพราะนอกจากจะพบอุปกรณ์การผลิต รวมตั้งตัวแคปซูลที่ถูกบรรจุอยู่ในถุงสีดำกว่า 10,000 แคบซูลแล้ว บุคคลที่ถูกบุกจับยังอ้างว่าอุปกรณ์ทั้งหมดถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ และตนเองเป็นเพียงผู้รับจ้างนำส่วนผสมทั้งมาผสมเองก่อนบรรจุลงแคปซูล โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าส่วนผสมต่างๆ มีอะไรบ้าง

นอกจากนั้นยังสาธิตวิธีการผสมอาหารเสริมดังกล่าวโดยใช้ช้อนตัก บรรจุลงแคปซูลก่อนนำใส่กระปุกและบรรจุกล่องแบรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น จากนั้นก็จะนำไปโพสต์ขายผ่านทางเฟซบุ๊กในราคากระปุกละ 190 บาท จนสามารถสร้างรายได้มากถึง 30,000-50,000 บาทต่อเดือน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว น.ส.ณัฐกิจ เสมแย้ม พร้อมของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.หนองปรือ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา “ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ซึ่งอาหารปลอม ซึ่งเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต”ตามมาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27(4) พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เพื่อดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย

ส่วนสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะส่งไปตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นสารอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ จากนั้นจึงจะดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป