นครราชสีมา – ธุรกิจค้าปลีกโคราชซบเซา กำลังซื้อลดฮวบ แบรนด์ท้องถิ่นไปต่อไม่ไหวขายกิจการทิ้งต่อเนื่อง ด้านเจ้าของร้านหมอยาพลาซ่า เรียกร้องรัฐบาลเร่งอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำนโยบายคนละครึ่งมาใช้อีกครั้ง

จากข้อมูลแหล่งข่าววงการค้าปลีกและค้าส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะที่นครราชสีมา ได้ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งหลายแห่งต้องปิดตัวหรือเปลี่ยนมือกิจการ สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) ประสบปัญหารายได้และสภาพคล่องลดลงอย่างรุนแรง หลายธุรกิจเก่าแก่ต้องปิดตัวหรือถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทจากจังหวัดอื่น เช่น อุบลราชธานีและสุรินทร์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าปลีกท้องถิ่น คือร้านหมอยาพลาซ่า สาขาหนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบว่าภายในร้านมีลูกค้าบางตาอย่างเห็นได้ชัด โดยนายจักริน เชิดฉาย เจ้าของร้านหมอยาพลาซ่า เปิดเผยว่า ยอมรับว่าช่วงนี้เศรษฐกิจในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซบเซามาก เนื่องจากกำลังการซื้อของลูกค้าลดลง ส่งผลให้ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งต่างๆ ในพื้นที่ ต้องมีการปรับตัวอย่างหนัก เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะร้านค้าปลีกที่เป็นแบรนด์ของคนในท้องถิ่น พบว่าขณะนี้มีอย่างน้อย 3 แบรนด์ บางแบรนด์มีร้านมากกว่า 20 สาขา ที่เริ่มขายสาขาให้เจ้าอื่นไปหลายสาขาแล้ว ซึ่งสาเหตุนอกจากกำลังซื้อที่ลดลงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาผสมโรงด้วย อย่างเช่น การแข่งขันที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการรุ่นเก่าเริ่มเหนื่อยกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันทายาทรุ่นใหม่ก็ไม่มาสานต่อธุรกิจค้าปลีกของครอบครัว เป็นต้น

ทำให้ต้องตัดสินใจขายกิจการให้เจ้าอื่นที่มีความพร้อมกว่าไปทำต่อ อย่างเช่นตนเองก็อายุมากแล้ว ทายาทก็ไปเรียนด้านแฟชั่น เขาก็อยากไปทำอาชีพที่เขารัก ตนเองที่เคยปั้นธุรกิจค้าปลีก มีสาขามากถึง 19 สาขา ตอนนี้ก็ได้ขายสาขาให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่ของโคราชไป จนขณะนี้เหลืออยู่เพียงแค่ 9 สาขาเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ตนเองก็อยากจะให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในต่างจังหวัด ให้สามารถไปต่อได้ โดยอยากฝากถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็อยากให้นำนโยบายคนละครึ่งของรัฐบาลที่แล้วมาปัดฝุ่นใหม่

เพราะนโยบายคนละครึ่งนั้นสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าได้ดีมาก และทำให้ร้านค้าปลีกต่างๆ ที่อยู่ในชนบทได้รับอานิสงค์ขายดีไปด้วย เพียงแต่รอบนั้นมีผลทำให้เกิดการเก็บภาษีย้อนหลังกันเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายร้านเริ่มไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะเขากลัวภาษีย้อนหลัง ถ้าอยากให้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากๆ ก็แก้ปัญหาด้วยการกำหนดจากยอดขายที่ไม่มาก เช่น ถ้าร้านใดยอดขายไม่ถึง 1 แสนบาท ไม่เก็บภาษีย้อนหลัง อย่างนี้จะดีมาก.

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา