สสส. ชูยุทธศาสตร์นวัตกร-ความท้าทายด้านการลดโซเดียม-ลดความเค็ม บนเวทีสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 นานาชาติยอมรับไทยหนึ่งในประเทศนำของเอเชียที่ขับเคลื่อนการลดโซเดียมอย่างจริงจัง
ที่ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมคู่ขนาน (Side Event) ของสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 (WHA77) เรื่อง “Salt Reduction: The Key Ingredient for More Effectie Food Policies” ซึ่งร่วมจัดโดย NCD Alliance องค์กร RESOLVE to Safe Lives และองค์การอนามัยโลก (WHO)
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือสถานการณ์การบริโภคโซเดียมที่มีผลต่อสุขภาพ มีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากหลายหน่วยงาน รวมทั้ง WHO ได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์ ถึงแม้ว่าหลายประเทศมีความก้าวหน้า ในการทำงานด้านโภชนาการ แต่การลดปริมาณโซเดียมในอาหารยังคงล่าช้า เมื่อเทียบกับเป้าหมาย โดยมีเพียง 5% ของประเทศที่ดำเนินนโยบายอย่างครอบคลุม และยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 ซึ่งผลจากการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่แนะนำ นำไปสู่โรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด
ซึ่งเป็นภาระโรคสำคัญที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ผลการสำรวจการบริโภคโซเดียมในคนไทย ปี 2566 พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 4,352 มิลลิกรัมต่อวัน เกินกว่า 2 เท่าจากที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก มีการบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,194 มก./วัน ซึ่งหากเด็กเคยชินกับการกินอาหารเค็ม จะทำให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ติดเค็มได้มากขึ้น และส่งผลต่อโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ โรคไต ที่น่าตกใจคือ คนไทยมีการล้างไตเพิ่มขึ้น 20,000 คนต่อปี หรือเพิ่ม 15% ต่อปี
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการบริโภคเค็มลง 30% ภายในปี 2568 จึงกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการลดบริโภคเค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของประชากรไทย 1. รณรงค์ให้ความรู้สู่ประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนโรงเรียน สถานประกอบการ และชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพ 2.พั ฒนานวัตกรรม ผลิตเครื่องวัดความเค็มในตัวอย่างอาหารแบบเชื่อมต่อข้อมูลไร้สายกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน 3. สร้างองค์ความรู้ ศึกษาการใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมประกอบอาหาร 4.ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะสำหรับนโยบายลดโซเดียม มาตรการกำหนดเพดานโซเดียม มาตรการการจัดซื้อและให้บริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพแก่สาธารณะ พร้อมทั้งกำกับติดตามการทำงานของทุกยุทธศาสตร์อย่างเข้มข้น
“สสส. ได้ร่วมกับผู้แทนจากสิงคโปร์ และแคเมอรูน นำเสนอยุทธศาสตร์การทำงาน นวัตกรรม และความท้าทายด้านการลดโซเดียมของแต่ละประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการบริโภคโซเดียมมากเกินไป นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อพัฒนานโยบายที่สามารถลดปริมาณโซเดียมในอาหาร เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน NCD Alliance องค์กร RESOLVE to Safe Lives และ WHOให้การยอมรับว่า สสส. กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม
ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มีส่วนสำคัญในการผลักดัน และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย นับเป็นหนึ่งประเทศชั้นนำของเอเชียที่มีการขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นผลจากการดเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประเทศไทย ปี 2559-2568” เพื่อลดภาระโรคจากกลุ่มโรค NCDs และลดค่ารักษาพยาบาล ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ประเทศชาติ” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว