นับเป็นอีกครอบครัวเกษตรกรต้นแบบหัวก้าวหน้า ต้องยกให้
นายสฤษดิ์ คำหอม อายุ 68 ปี และ นางลำปาง คำหอม 62 ปี เจ้าของสวนทุเรียนหมอนทอ บ้านยางชุม ต.นาทับไฮ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย โดยทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นที่ทั้งหมด 30 กว่าไร่ มีการแบ่งพื้นที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด กล้วย ขุดสระเลี้ยงปลา และนำน้ำในสระมาใช้รดต้นไม้เก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งปี ซึ่งพื้นที่ภายในสวนน่าอยู่มาก ปลูกทุกอย่างหากมีพื้นที่ว่างดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี
นายสฤษดิ์ บอกว่า เมื่อก่อนเป็นเกษตรกรทำนามาทั้งชีวิต ทำนามาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็ประสบปัญหาทั้งราคาข้าวที่ตกต่ำ ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นทุกปี จนเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2562 จึงตัดสินใจอยากลองปลูกพืชใหม่ๆ บ้าง จึงเปลี่ยนจากทำนามาปลูกไม้ผล โดยที่ดินแปลงนี้มีพื้นที่ประมาณ 30 กว่าไร่ แบ่งพื้นที่เป็นขุดสระ 2 ไร่ ขุดร่องน้ำ 3 ไร่ ปลูกทุเรียน 15 ไร่ ปลูกเงาะ 10 ไร่ กล้วย 2 ไร่ แบ่งพื้นที่อยู่เป็นอาศัยประมาณ 2 ไร่ มังคุดปลูกแซมในสวนทุเรียน พันธุ์ทุเรียนก็หาซื้อตามตลาดนัด ไม่ได้มีแหล่งซื้อเฉพาะเจาะจง ซื้อมาปลูกทีละ 5 ต้น 10 ต้น มีหลายพันธุ์ผสมกันไป เช่น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ทุเรียนพันธุ์มูซานคิง ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล ทุเรียนพันธุ์พวงมณี แต่จะเน้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองมากที่สุด ส่วนสายพันธุ์อื่นปลูก 4-5 ต้น พอได้ชิม
นายสฤษดิ์ บอต่อว่า หลังจากเริ่มปลูกทุเรียนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ปลูกไปตายไป เพราะไม่รู้วิธีการดูแลรักษา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าระบบส่งน้ำเขาทำกันยังไง ช่วงแรกก็ไปซื้อสายน้ำ PE สายเล็กๆ มาใช้ ประสบปัญหาน้ำไหลไม่เพียงพอ เปลี่ยนมาใช้ท่อ PVC 4 หุน ก็ยังประสบปัญหาน้ำไหลไม่เพียงพอเหมือนเดิม ต้นน้ำแรงปลายน้ำค่อย เปลี่ยนมาใช้ท่อ PVC 1 นิ้ว มาได้ระยะหนึ่งช่วงแรกก็ดี แต่พอต้นทุเรียนเริ่มโตก็ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพออีก จึงเปลี่ยนมาใช้ท่อ PVC 1.5 นิ้วแทน และใช้มาถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องน้ำอีก ลองผิดลองถูกด้วยตนเองมาตลอด เพราะไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ตนเองก็ปลูกทุเรียนเป็นครั้งแรก แถวนี้ก็ไม่มีใครปลูกทุเรียน ส่วนใหญ่จะทำนาข้าว ทำสวนยางพารา และไร่มันสําปะหลัง
สำหรับการดูแลรักษาทุเรียนในช่วง 3 ปีแรก นายสฤษดิ์ ยอมรับว่าดูแลยากมาก ประสบปัญหาทั้งดินเป็นกรดเป็นด่าง น้ำไม่เพียงพอยืนต้นตายทั้งแถวก็มี ตายเยอะมาก เพราะไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย เรียนรู้ด้วยตนเองทุกอย่าง ต้นไหนตายก็ซื้อมาปลูกทดแทน ตามตลาดนัด ฉีดยาฆ่าแมลงช่วงแรกเพื่อไม่ให้แมลงมารบกวน ช่วงเจริญเติบโต ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ผ่านระบบสปริงเกอร์ ปุ๋ยครั้งแรกใช้ปุ๋ยเคมีทุเรียนตาย จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีถึงโตมาถึงทุกวันนี้ ส่วนช่วงที่ดูแลยากก็ 1-3 ปี หลังจากนั้นก็ดูแลง่ายแล้ว
นายสฤษดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.67 ที่ผ่านมาได้เก็บเกี่ยวผลผลิตชุดแรกได้ทุเรียนกว่า 100 กิโลกรัม ส่งขายให้กับลูกค้าที่สั่งจองไว้ก่อนหน้าที่ลูกจะสุก กิโลกรัมละ 150 บาท ลูกหนึ่งก็หนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ตอนนี้ไม่พอขาย มีลูกค้าสั่งจองอีกจำนวนมาก ลูกค้าตอบกลับมาว่ารสชาติหอมหวานเนื้อกรอบ พูใหญ่ เนื้อแห้งเม็ดเล็ก ที่สวนมีทุเรียนรวมกันประมาณ 300 กว่าต้น ปลูกมาได้ 5-6 ปี ปีนี้ได้ผลผลิตเป็นปีแรก ผลตอบรับดีเกินคาด และตอนนี้กำลังเร่งปลูกทุเรียนแทนเงาะทั้งหมด
อย่างไรก็ตามส่วนต้นมังคุดที่ปลูกแซมไปกับต้นทุเรียนปีนี้ ล่าสุดก็ออกลูกแล้ว แต่ยังไม่ได้ขาย เพราะเป็นปีแรก ออกลูก 4 ต้น ลองชิมดูก็มีรสชาติหอมหวานอร่อยดี คาดว่าปีหน้าน่าจะได้ผลผลิตเยอะพอสมควร ตั้งแต่ปลูกพืชผสมผสานมาใช้เงินลงทุนไป ทั้งหมด 1,130,000 บาท เพราะจดรายการค่าใช้จ่ายไว้ตลอด แต่ไม่ใช่เป็นเงินก้อน เป็นการทยอยจ่าย ที่หนักสุดคือระบบน้ำ เปลี่ยนท่อไปหลายรอบ เพราะลองถูกลองผิดกับตัวเอง ลงทุนไปกับระบบน้ำกว่า 2-3 แสนบาท กลางคืนลูกชาย นายเทวฤทธิ์ คำหอม อายุ 37 ปี จะมานอนเฝ้าสวน ตอนนี้ไฟฟ้ายังเข้ามาไม่ถึงก็คงต้องลงทุนอีกครั้ง ตอนนี้ไฟฟ้าใช้ระบบโซลาร์เซลล์เป็นหลัก ใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นแท็งก์พักน้ำ แล้วปล่อยน้ำตามเวลา