“ภาวะโลกรวน” เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ในระยะเวลายาวนาน โดยนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร ชี้ว่า ความแปรปรวนของภูมิอากาศจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตรสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพด อ้อย การเลี้ยงสัตว์ และการประมง เพราะเป็นปัจจัยลบต่อความเพียงพอของอาหาร การเข้าถึงอาหารและคุณภาพของอาหารลดลง ซึ่งจะทำให้แนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารในทุกระดับ กล่าวคือ ระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น
คลื่นความร้อนดังกล่าว ยังทำให้เกิดภัยธรรมชาติหลายด้าน เช่น ภาวะน้ำแล้งรุนแรง (Extreme Drought) และภาวะน้ำท่วมรุนแรง (Extreme Flood) ที่พบบ่อยขึ้น ซึ่งมีผลต่อระบบนิเวศและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเพาะปลูกพืชผลผลิตต่อไร่ลดลง จากน้ำไม่เพียงพอ ดินขาดความชุ่มชื้น ขณะที่ภาคปศุสัตว์ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อากาศร้อนทำให้พฤติกรรมสัตว์เปลี่ยนแปลง สัตว์เครียด ไม่กินอาหาร โตช้าและผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดตามมา เป็นอีกหนึ่งความท้าทายและความยากลำบากของเกษตรกรในการรักษาประสิทธิภาพการผลิต ทั้งคุณภาพและปริมาณให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ราคาผลผลิตทางการเกษตรจึงจำเป็นต้องปรับขึ้น เพื่อจูงใจให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลผลิตภาคการเกษตรและภาคปศุสัตว์ที่ขึ้นกับดินฟ้าอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ต้นทุนการผลิตทั้งปุ๋ย อาหารสัตว์ น้ำมัน ค่าขนส่ง การป้องกันโรคระบาดและความต้องการของผู้ซื้อต่อผู้ผลิตด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นต้นทุนสำคัญที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร หากราคาสินค้าเกษตรไม่สามารถปรับขึ้นได้เร็วเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรหลายรายการต้องอยู่ในสถานะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง เช่น หมู ไข่ ในขณะนี้
นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงกันในระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อสูงและความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก ควบคู่กับความเสี่ยงของสงครามทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่าน หากสงครามปะทุ จะส่งแรงกระเพื่อมต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ราคาพลังงานและปุ๋ย ราคาจะปรับสูงขึ้น ทันที ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกต่างมีประสบการณ์เดียวกันที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 30% ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% แม้ขณะนี้ต้นทุนดังกล่าวจะลดลงบ้างแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง แต่สินค้าไม่อาจปรับราคาได้กลไกตลาด
สำหรับภาคปศุสัตว์ไทย การเลี้ยงสุกรต้องเผชิญปัญหาใหญ่ 2 ด้าน คือ โรคระบาด ASF ผลผลิตหายไป 50% ตามด้วยการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ทำให้ราคาหมูไทยตกต่ำต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี จนถึงปัจจุบันราคาสุกรหน้าฟาร์มยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 72-78 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567) ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ด้านต้นทุนการผลิตไข่ไก่ฟองละ 3.63 บาท/ฟอง ราคาขายเพิ่งปรับขึ้นมาเหนือต้นทุนอยู่ที่ 3.80 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา
ทั้งหมูและไก่ไข่ ยังเจอปัญหาผลผลิตต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสภาพอากาศร้อนอุณหภูมิสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส กระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการกินอาหารและอารมณ์ของสัตว์ ทำให้สัตว์โตไม่เต็มที่ ผลผลิตลดลง ราคาจำเป็นต้องปรับขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุน แต่ไม่สามารถทำได้มากเพราะกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อผู้บริโภคเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกลไกตลาด (Demand-Supply) ก็จะเข้าใจกลไกราคาที่ปรับขึ้นและปรับลงตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดและต้นทุนการผลิต ที่สำคัญภาครัฐยังมีมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมถึงเกษตรกร ผ่านคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ รวมถึงพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะคุ้มครองทุกฝ่ายให้ได้รับราคาที่ยุติธรรม
เมื่อช่วงฤดูร้อนผ่านไป ผลผลิตหมู ไข่ไก่ และพืชผัก เพิ่มมากขึ้น ประชาชนก็จะเลือกซื้อผลผลิตเหล่านี้ในราคาที่ได้สบายใจขึ้น ขณะที่ภาครัฐต้องแก้ไขอุปสรรคของภาคการเกษตรที่ส่งผลกระทบทั้งหมดข้างต้น ให้สามารถผลิตอาหารปลอดภัยและเพียงพอต่อความต้องการ ตลอดจนสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว./
โดย… อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ