หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดพื้นที่ “Life Space” แห่งใหม่ ยกระดับเป็นห้องสมุดต้นแบบ Library of Life ณ ชั้นใต้ดิน 2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดพื้นที่ “Life Space” หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างเป็นทางการ โดยมี รศ. ดร.อัญณิษฐา ดิษฐานนท์ ผู้อำนวยการหอสมุดฯ พร้อมด้วยบุคลากรและนักศึกษา มธ. รวมทั้งสื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ ร่วมงาน ณ ชั้นใต้ดิน 2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ

รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังก้าวสู่ปีที่ 90 ซึ่งจะครบรอบวันสถาปนาในเดือนมิถุนายนนี้ สิ่งที่ มธ. ยึดถือมาตลอดคือการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้ศึกษาสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพและพัฒนาประเทศชาติได้ โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปอีกด้วย มธ. มีการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็น Co-Learning Space และเพิ่มกิจกรรมและวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้ประชาชนเข้ามาร่วมกันเรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกัน และในปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีทั้งสิ้นกว่า 300 หลักสูตร มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำในทุกวงการ เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและทลายกำแพงการเรียนรู้ เป็น “ตลาดวิชาในยุคดิจิทัล”

โดยมีหลักสูตรออนไลน์ให้ศึกษา เช่น หลักสูตร TUXSA (ทักษะ) ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตออนไลน์ของเราที่เน้นสอนด้านการบริหารและนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้เรียนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันและการเพิ่มหลักสูตรหรือการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์นัั้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ มธ. ที่ต้องทำให้สำเร็จ โดยต้องอาศัยหน่วยงานทุกภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัยช่วยกันทำให้สิ่งนี้สำเร็จ และหอสมุด มธ. ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่สำคัญมาก ๆ ที่จะช่วยให้เป้าหมายนี้สำเร็จ เพราะหอสมุดฯ นั้นเป็นด่านแรก ๆ ที่นักศึกษา และประชาชนทั่วไปนึกถึงเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยของเรา และผลงานที่ผ่านมาของหอสมุดฯ ก็ตอบโจทย์เรื่องการสร้างพื้นที่และวิธีสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้บริการเสมอมา

รศ. เกศินี กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน” โดยในหนึ่งพันธกิจของเราคือ การสร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้แบบบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ใหม่ๆในโลกอนาคต หอสมุด มธ. ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นพลังสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการช่วยให้ มธ. บรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ โดยหอสมุดฯ เป็นหน่วยงานของ มธ. ที่มุ่งมั่นพัฒนาบริการและนวัตกรรมเพื่อให้สอดรับกับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่าง ๆ เสมอมา โดยสนับสนุนแนวทางการทำงานและการเรียนการสอน เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับประชาคมชาวธรรมศาสตร์ และขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด Lifebrary of Life เพื่อยกระดับการให้บริการของห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพ

การที่หอสมุด มธ. มีทรัพยากรหลากหลาย ทั้งในรูปแบบรูปเล่มและออนไลน์ นั้นช่วยให้ผู้ใช้บริการได้มีตัวเลือกในการเรียนรู้มากขึ้น สำหรับในด้านของบริการของหอสมุดฯ นั้นก็ได้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ เช่น การปรับบริการเข้าสู่รูปแบบออนไลน์และบริการ Self-Service มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากร และช่วยให้ผู้ใช้บริการใช้งานได้อย่างสะดวกมากขึ้น และการปรับตัวเหล่านี้ จะช่วยให้ทั้งประชาคมธรรมศาสตร์และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้น สิ่งที่หอสมุดฯ อาจพิจารณาต่อไปในอนาคต คือการสร้างพื้นที่สำหรับการแชร์ความรู้ และเป็น Marketplace สำหรับการแลกเปลี่ยนไอเดียและทักษะอนาคตอย่างเต็มตัว ซึ่ง ณ ตอนนี้หอสมุดฯ ทำได้ดีแล้ว แต่ทางทีมผู้บริหารเชื่อว่า ในอนาคตหอสมุดฯ จะสามารถทำได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปค่ะ

“การพัฒนาพื้นที่ Life Space ให้เป็น Co-Working Space แห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ Future Workforce (การสร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต) ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีแผนเพิ่มพื้นที่ในการศึกษาและทำงานให้มีความเหมาะสม และมีกิจกรรมภายในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะต่าง ๆ ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมและการแสดงความสามารถพิเศษต่าง ๆ เพราะในปัจจุบัน วิธีการเรียนรู้ถูกปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

 

โดยที่ผ่านมาได้ติดตามข่าวสารการพัฒนาหอสมุดฯ อยู่เสมอ การพัฒนา Life Space ณ หอสมุดฯ แห่งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Life Space ของหอสมุดฯ Life Space ที่แท้จริงอยู่ในทุกส่วนของห้องสมุดทุกสาขา เพราะห้องสมุดของ มธ. เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ มีมุมผ่อนคลายต่าง ๆ ซ่อนอยู่ในทุกห้องสมุด เช่น มุมมังงะ เป็นต้น การพัฒนาพื้นที่ชั้นใต้ดินของหอสมุดปรีดี พนมยงค์แห่งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมของ Life Space ทางผู้บริหารเชื่อว่า ในอนาคตหอสมุดฯ จะต้องมีพื้นที่ Life Space ที่สวยงามและใช้งานได้จริงในทุกห้องสมุดสาขา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็พร้อมสนับสนุนทุกการพัฒนาของห้องสมุดเสมอ” อธิการบดี มธ. กล่าวย้ำ