เกษตรกร ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชผักสวนครัวและผักพื้นบ้านสำคัญจุดหนึ่งของจังหวัด กำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศร้อนรุนแรง ทำให้ต้นพริกดอกแห้ง ไม่ติดผล ใบด่างหงิกงอ หากติดผลก็ฝ่อ ไม่ได้น้ำหนัก สีสันรูปทรงไม่สวย เกษตรกรท้อแท้ใจมาก เสียหายสูงจนอยากเลิกปลูก เพราะไม่คุ้มต้นทุน
นางวันเพ็ญ มีประเสริฐ ชาวนาที่ปลูกผักสวนครัวเป็นอาชีพเสริมมาแล้ว 6 ปี เปิดเผยว่า ตนจะเลือกปลูกพืชสวนครัว บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ อาทิ มะเขือ แตงกวา ถั่วฟักยาว พริกกะเหรี่ยง และพริกยอดสน สลับกันไปตามฤดูกาล และความต้องการของตลาด ตามปกติ จะเริ่มปลูกพริกกะเหรี่ยงและพริกยอดสนในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และจะเริ่มเก็บผลได้ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากใช้ต้นทุนในการปลูกไม่มาก สามารถเก็บผลผลิตได้นานประมาณ 1 ปี และขายได้ราคาดี
นางวันเพ็ญ กล่าวต่อว่า ทว่าตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา สภาพอากาศที่ร้อนจัด อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดโรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย จนไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ส่วนปีนี้ขยับช่วงเวลาปลูกมาเป็นเดือนตุลาคม และเริ่มเก็บผลผลิตครั้งแรกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ต้นพริกก็เริ่มประสบปัญหาดอกแห้ง ทำให้ไม่ติดผล ใบด่างหงิกงอ ในส่วนต้นพริกที่ติดผลก็จะฝ่อ ไม่ได้น้ำหนัก สีสันและรูปทรงไม่สวย อันเป็นผลมาจากแมลงศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง และแมลงหวี่ขาว เข้าทำลาย
นางวันเพ็ญ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมผลผลิตที่เคยได้ลดลงไปกว่าร้อยละ 80 และจากการสอบถามกลุ่มเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ ก็พบว่ากำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน ในขณะที่ปัจจุบันราคารับซื้อพริกกะเหรี่ยงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 60 บาท สวนทางกับผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาด อันเนื่องมาจากมีการนำเข้าพริกจากต่างประเทศมาขาย ดังนั้นตนและเพื่อนเกษตรกรหลายรายตั้งใจกันว่า ในรอบการปลูกครั้งหน้าจะไม่ปลูกพริกอีกแล้ว เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนการปลูก ทั้งค่าต้นพันธุ์ ค่าไฟ ค่าปุ๋ย และยาป้องกันศัตรูพืช.