ฤดูหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณลดลงมาก โดยเช้าวันที่ 29 ก.พ.2567 จุดวัดระดับน้ำบ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ มีระดับต่ำ 1.69 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 12.31 เมตร ซึ่งส่งผลกระทบโดยรวมกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่บ้านบุ่งคล้า ต.บุ่งคล้า ที่ใช้พื้นที่ว่างเปล่าริมแม่น้ำโขงทำการเกษตร

เช่น ปลูกมะเขือเทศ มันแกว และพืชระยะสั้นอื่นๆ ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องต่อท่อ PVC ดูดน้ำในแม่น้ำโขงไกลกว่า 200 เมตร ขึ้นมารดพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไว้ริมโขง โดยมีทั้งค่าน้ำมัน ค่าซื้อท่อ PVC ต้นทุนการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องจอดเรือหยุดออกหาปลา เนื่องจากระดับที่ลดต่ำและไหลนิ่ง เกิดสาหร่ายหรือชาวบ้านเรียกว่าเทา ขึ้นเต็มผืนน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการหาปลา

ขณะเดียวกับที่โรงผลิตน้ำประปาของเทศบาลตำบลหอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เจ้าหน้าที่ต้องขยับแพสูบน้ำลงไปกลางแม่น้ำโขงทุก 2-3 วัน และคอยตักสาหร่ายหรือเทาออกจากปากท่อสูบน้ำดิบตลอดเวลา ป้องกันสาหร่ายเข้าไปติดท่อสูบน้ำ รวมไปถึงไหลเข้าไปในระบบผลิตน้ำประปา ทำให้น้ำมีกลิ่นและไม่สะอาด

ส่วนที่บริเวณหาดทรายกลางแม่น้ำโขง บ้านโนนยาง ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ชาวบ้านในระแวกใกล้เคียงหลายสิบคน ที่ว่างเว้นจากงานประจำหรือกรีดยางพาราเสร็จแล้ว จะรวมกลุ่มกันออกมาหาหอยเล็บม้า ที่มักจะมีเฉพาะหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤษภาคมเท่านั้น

โดยจะนำอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สวิง ตะแกรงคราดหอยที่ทำขึ้นเอง มาตักและกวาดหอยที่จมอยู่ในพื้นทราย บางคนก็จะใช้เพียงมือเปล่างมหาหอยเท่านั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญมากน้อยของแต่ละคน พร้อมกับนำไปขายในราคาขายส่ง 3 กก./100 บาท บางคนที่เดินทางมาจากหมู่บ้านที่ไกลออกไปก็จะขายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท วันหนึ่งจะมีรายได้ 3-500 บาท บางคนก็ไม่ขาย นำกลับไปประกอบอาหารกินเองในครอบครัว เป็นการสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส สร้างรายได้ และยังลดรายจ่ายในครอบครัวด้วย