ตร.ปคบ.-อย. ทลายเครือข่าย Call Center หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม โดยเข้าตรวจยึดโกดังแห่งหนึ่งในลาดกระบัง พบมีการแอบอ้างบุคคลผู้มีชื่อเสียง เป็นเหตุให้ผู้บริโภคหลงเชื่อสรรพคุณสินค้า มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 660 ล้าน
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.กล่าว กก.4 บก.ปคบ.เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับอย.เข้าจับกุมผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาปลูกผม ยาลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ จำนวน 33 รายการ มูลค่า 24 ล้านบาท เป็นของกลางร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจยึดได้จากโกดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่เขตลาดกระบัง และบุกทลายศูนย์คอลเซ็นเตอร์ ที่ตั้งอยู่ในอาคารเช่าพื้นที่รามคำแหง ที่เปิดเป็นบริษัทขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีการหลอกลวงสร้างข้อมูลเท็จหลอกขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ แอบอ้างบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในสรรพคุณของสินค้า
อย่างไรก็ตามในส่วนฐานข้อมูลที่ใช้เป็นการผลิตสื่อโฆษณาจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าอยู่ต่างประเทศ และพบว่าในช่วงเดือน มกราคม ถึง มิถุนายน ที่ผ่านมาบริษัท มีรายได้จากการหลอกลวงขายผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ประมาณ 219 ล้านบาท มีการจ่ายเงินค่าโฆษณาไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม, สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 188 ล้านบาท และยังมีเงินหมุนเวียนในบริษัท มากกว่า 660 ล้านบาท
พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวอีกว่า จึงฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าขอให้ระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ โดยเว็บไชต์เหล่านี้จะใช้เทคนิคเชิญชวนให้กด “สั่งซื้อพร้อมส่วนลด 50%” ในลักษณะการสั่งซื้อผ่าน Call Center เมื่อกดการสั่งซื้อสินค้า หลังจากนั้นจะมีการติดต่อกลับจาก Call Center จะติดต่อกลับไปหาผู้ซื้อ เพื่อบรรยายสรรพคุณเกินจริง โน้มน้าวให้ผู้ซื้อหลงเชื่อตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าวและการจัดส่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง ผ่านทางเว็บไซต์ต่างประเทศ มีการกล่าวอ้างบุคคลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น แพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย
ทั้งนี้โดยเนื้อความเหมือนการให้ความรู้และสอดแทรกผลิตภัณฑ์ที่ต้องการขายลงไป ทำให้คนตกเป็นเหยื่อได้ง่าย และขอเตือนไปยังผู้คิดจะกระทำความผิดหลอกลวงคนอื่นด้วยวิธีการเอาความเจ็บป่วย หรือความเยาว์วัยมาหลอกลวงขายสินค้าให้กับผู้บริโภค หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
ด้าน ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เผยว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต แต่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ใช้คำโฆษณา เกี่ยวกับรักษาโรค สร้างเฟกนิวส์ให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ โดยจะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ และใช้รูปหรืออ้างอิงบุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลดังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค
เจ้าหน้าที่จึงขอฝากเตือนผู้บริโภค ให้พึงระวังการหลอกขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่มีการโฆษณาเกินจริง ซึ่งหากไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์หรือต้องการรับข่าวสารการแจ้งเตือนต่างๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้.