ช่วงปีที่ผ่านมา นับเป็นปีที่หนักหนาสาหัสของผู้เลี้ยงหมูไทย เพราะต้องแบกขาดทุนกันนานข้ามปี ด้วยราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่สามารถไต่ระดับขึ้นไปถึงจุดคุ้มทุนที่ 80 บาท/กก. ได้ ทั้งที่ผู้เลี้ยงทั่วประเทศฝากความหวังไว้ที่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการสูงกลไกตลาดจะผลักดันราคาขึ้นไปตามธรรมชาติ แต่ปีนี้อุปทาน (Supply) ดันล้นตลาด เพราะถูกหมูเถื่อนเทสต๊อกค้างปีขาย หนีตายและดัมพ์ราคาเพื่อเอาทุนคืน ขณะที่ความต้องการ (Demand) ไม่ได้มากอย่างที่คาด เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคจับจ่ายเท่าที่จำเป็น ราคาหน้าฟาร์มจึงขยับได้แค่ 70-76 บาท/กก. ไม่สามารถฝ่าอุปสรรคไปจนถึงเส้นชัยได้

เกษตรกรเลี้ยงหมูไม่น้อยกว่า 200,000 ราย ได้แต่ถอนใจ หากย้อนสถานการณ์ไปก่อนเกิดโรคระบาด ASF และไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 70-76 บาท/กก. ถือว่าเป็น “ราคาที่พออยู่ได้” มีรายได้เลี้ยงครอบครัวให้มีชีวิตที่ดี มีเงินไปจ่ายหนี้ธนาคารและมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเลี้ยงหมูรอบต่อไปได้ แต่มาปี 2566-67 ราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้คือ 80 บาท/กก. เห็นได้ว่าขาดทุนและขาดทุนนาน เป็น “ราคาที่อยู่ไม่ได้” แม้วันนี้ได้ราคาตามเป้าหมาย ก็ต้องไปชดเชยที่ขาดทุนสะสม ต้องจ่ายหนี้หรือผ่อนดอกเบี้ยธนาคารจากการกู้ โอกาสที่ฟื้นตัวกลับมายังยาก ต้องมาลุ้นกันว่าปีนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ราคา 80 บาท/กก. ได้หรือไม่และอย่างไร

ในช่วงสถานการณ์ปกติผลผลิตหมูไทยจะอยู่ที่ประมาณ 19-20 ล้านตัวต่อปี แต่ในปี 2565 หลังพบโรคระบาด ASF ผลผลิตทั้งหมูขุนและแม่หมูหายไปกว่า 50% ทำให้ราคาหน้าฟาร์มพุ่งขึ้นไปเกินกว่า 100 บาท/กก. (เกิดช่องว่างให้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน) ขณะที่เกษตรกรต้องทุ่มเทความพยายามและความอดทนในการเลี้ยงหมูให้รอดและปลอดภัยจากโรค ฟื้นฟูผลผลิตให้เพียงพอ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทยทั้งปริมาณและราคาที่เหมาะสม ตามเป้าหมาย 18.5 ล้านตัวในปีเดียวกัน แต่ก็ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากยังมีโรคระบาดในบางพื้นที่ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น 30% จากการที่รัสเซียปิดทะเลดำ ตัดการขนส่งธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อส่งออกไปประเทศต่างๆ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้เกษตรกรลังเลที่จะนำหมูรุ่นใหม่เข้าเลี้ยง

ปี 2566 เกษตรกรผู้เลี้ยงกลับเข้าฐานกับครบถ้วนหน้า อาจจะมีหลายรายที่พับเสื่อเลิกเลี้ยงไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะขาดทุนสะสมนาน 12 เดือน ต้องมีถอดใจกันบ้าง แต่ปีที่แล้วนับว่าผู้เลี้ยงหมูไทยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูฟาร์มและผลผลิตทำให้ผลผลิตกลับมายืนที่ประมาณ 19 ล้านตัว/ปีได้ นับเป็นเรื่องดีของคนไทยที่ได้มีเนื้อหมูปลอดภัย ปลอดสารเร่งเนื้อแดงบริโภคอย่างเพียงพอ แต่ก็ต้องมาเจอมารผจญจากหมูเถื่อนมากกว่า 64,500 ตัน (64.5 ล้านกิโลกรัม) ทั้งที่ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ และที่สำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลแช่แข็งเล็ดลอดออกไปสู่ตลาดในประเทศตั้งแต่ปี 2565 มากกว่า 60,000 ตัน เพิ่มปริมาณเนื้อหมูจนล้นตลาด กดราคาให้ตกต่ำ ที่สำคัญ หมูเถื่อนที่มีต้นทางจากประเทศบราซิลและเนเธอร์แลนด์ ต้นทุนหน้าฟาร์มอยู่ที่ประมาณ 39-50 บาท/กิโลกรัม เดินทางมาถึงไทยทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ นับเป็นความล้มเหลวเรื่องราคาของผู้เลี้ยงหมู

การปราบปรามหมูเถื่อนและมาเฟียนำเข้าซากสัตว์จากต่างประเทศให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องขับเคลื่อน ตามอำนาจหน้าที่และกฏหมาย ทำสำเร็จก็จะช่วยชุบชีวิตใหม่ให้กับผู้เลี้ยงหมูให้ฟื้นคืนชีพ นำอุปสงค์-อุปทานกลับเข้าสู่ระบบอย่างสมดุล ไม่มีส่วนเกินมาแทรกแซงตลาดฉุดราคาให้ตกต่ำ

นอกจากนี้ ภาครัฐควรใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ คือ “กลไกตลาด” ในการปรับขึ้น-ลง ราคาหมูอย่างเหมาะสม เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และควรใช้จุดแข็งของหมูไทยที่ปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดงและสารปนเปื้อน ได้มาตรฐานสากล เป็นจุดขาย ส่งเสริมการส่งออกผลผลิตส่วนเกินไปประเทศเพื่อนบ้าน สร้างสมดุลให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู ที่สำคัญปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยังสูงและเป็นต้นทุนสำคัญ ต้องมีการหารือร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่การผลิต เพื่อหาทางแก้ปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ที่ต้องนำเข้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าที่แตกต่างกันไป มีทั้งสัดส่วนนำเข้าและภาษี จำเป็นทบทวนหรือยกเลิก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกและการเข้าถึงอาหารอย่างยั่งยืน

โดย….แทนขวัญ มั่นธรรมะ นักวิชาการอิสระ