เมื่อวันที่ 6 ก.ย.65 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายไตรรงค์ ตันทสุข นักกฎหมาย ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี เพื่อร้องเรียนนายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.)ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ภายหลังพบพฤติการณ์ของนายณภัทรว่าน่าจะเป็นการกระทำอันใช้อำนาจหน้าที่หรือการแสดงออกในการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ หรือในการดำเนินการแต่งตั้งที่ปรึกษาในฐานะประธานคณะกรรมการ กตป. โดยที่ไม่มีระเบียบหรือกฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งยังมีการแสดงออกว่าตนเป็นกรรมการ กตป. สวมใส่เสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของ กตป. ในขณะยื่นหนังสือต่อเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่คณะกรรมการไม่ได้มีมติหรือมอบหมายให้ดำเนินการ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะตอนที่ได้เห็นเรื่องนี้ในครั้งแรก ตนเชื่อว่านายณภัทรทำไปตามอำนาจหน้าที่ของ กตป. ที่มีมติหรือมอบหมายให้ทำ แต่ต่อมาเมื่อเห็นภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค โดยนายณภัทรน่าจะคัดค้านไม่ให้กสทช. มีคำสั่งให้ควบรวม และ ขอให้ยกเลิกประกาศ ที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการทั้งที่ได้มีการบังคับใช้แก่การควบรวมของรายอื่นมาแล้ว เกิดเป็นคำถามว่าเป็นใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองไปในทางไม่ชอบหรือไม่ เนื่องจากตนเองก็ติดตามกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง และก็เคยแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของกสทช.ด้วย

 

 

นายไตรรงค์ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ นายณภัทรยังมีพฤติกรรมอันน่าจะไม่เหมาะสมในการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นในการประชุมคณะกรรมการ กตป. ต่าง ๆ รวมทั้งที่ไม่ให้เกียรติผู้รับหนังสือด้วยการลงนาม หนังสือร้องเรียนด้วยปากกาสีแดงทั้งที่มีการทักท้วงของเจ้าหน้าที่ก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นความไม่สง่างามไม่ควรที่จะเกิดขึ้นในการทำหน้าที่ของนายณภัทรที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอันทรงเกียรติ จึงเห็นว่าการกระทำของนายณภัทรน่าจะเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตำแหน่งกรรมการ กตป.ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ นายไตรรงค์ ชี้แจงว่า นายภัทรได้รับการแต่งตั้งให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ กตป. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐ ดังนั้นนายณภัทรย่อมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบพ.ศ. 2561 ดังนั้นนายณภัทรควรมีความเป็นกลาง และกระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายที่ให้ไว้ โดยปราศจากซึ่งอคติทั้งปวง เพื่อไม่ให้กระทบเสียหายต่อบุคคลอื่น ไม่ใช่กระทำการใดใดที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทำไปโดยไม่มีอำนาจดังข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวตอบสื่อมวลชนไปนี้ อีกทั้ง ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลปกครองที่วินิจฉัยไว้ก็มีปรากฏไว้ชัดเจน

 

สำหรับหนังสือร้องเรียนที่ยื่นต่อป.ป.ช. ได้ระบุถึงพฤติการณ์ของนายณภัทรที่เข้าข่ายผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนในแต่ละช่วงเวลา และยังเข้าข่ายเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กตป.ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีพฤติการณ์ที่ส่อนัยยะขัดกับระเบียบ กตป.ว่าด้วยวิธีการประชุมและการลงมติ ได้แก่ การแต่งตั้งที่ปรึกษาประธาน กตป.โดยไม่มีอำนาจและระเบียบรองรับ การเสนอร่างคำของบประมาณปี 2563 เพื่อตรวจเยี่ยมสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ 371 สถานี และอื่น ๆ อีกหลายกรณี