สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ จับมือ BMS ลงนามMOU เดินหน้าพัฒนาระบบบริการ สังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ใช้ระบบ AI บูรณาการเชื่อมข้อมูลทุกระบบ เพื่อช่วยลดขั้นตอน-ยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เชื่อหากทำครอบคลุมทั้งประเทศ จะเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยและผู้เข้ารับบริการ

สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ร่วมกับบริษัทบางกอกเมดิคอลซอฟต์แวร์ จำกัด จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบบริการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ผ่าน PLATFORM SOCIAL TELECARE ภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของนักสังคมสงเคราะห์และสหวิชาชีพเพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อขยายผลการทำงานในระดับพื้นที่ กับระบบBMS-HOSxP สู่การทำ E-CLAIM กับ ระบบ A-MED Home Ward จิตเวชและยาเสพติดกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการพัฒนาการใช้งานระบบดิจิทัล และขับเคลื่อนกลไกเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ SANDBOX โดยบรรยากาศในงานลงนาม MOU มี บุคคลากรที่ทรงคุณค่าในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ร่วมเป็นสักขีพยาน

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า การทำ MOU ครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกในการยกระดับการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุข เพื่อทำให้การเก็บข้อมูลโดยใช้แต่ละเครื่องมือเข้าไปอยู่ใน PLATFORM SOCIAL TELECARE ซึ่งการทำ MOU กับบริษัท BMS นั้นเพราะเห็นว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่กว่า 60 โรงพยาบาลใช้ระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าว และการเชื่อมโยงข้อมูลนั้นจะทำให้งานสังคมสงเคราะห์เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทำให้นักสังคมสงเคราะห์เห็นในภาพรวมในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนการดูแลแบบองค์รวม โดยมีผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ให้ชุมชนเป็นเซ็นเตอร์สามารถดูแลสุขภาพในหลายมิติที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการในการรับการดูแลในระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

หากนักสังคมสงเคราะห์ทำงานบนแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยประหยัดเวลาทั้งประเด็นการส่งต่อ การดำเนินการในเคสที่ยากซ้ำซ้อน โดยใช้ระบบดังกล่าวเพื่อเป็นช่องทางในการเชิญวิชาชีพต่างๆมาร่วมพูดคุย ซึ่งบางเรื่องต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก็จะช่วยย่นระยะเวลาและเพิ่มขีดความสามารถของนักสังคมสงเคราะห์โดยผ่านการใช้ระบบซอฟต์แวร์ ขณะที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีแผนพัฒนากำกับติดตามผ่านการขับเคลื่อนการใช้ PLATFORM SOCIAL TELECARE เพื่อควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ต่อไป

“บางทีเจอกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้พิการซึ่งไม่รู้ว่าตนเองมี 2 สิทธิ์ ซึ่งเวลาได้ 2 สิทธิ์สิ่งที่จะเกิดประโยชน์อย่างมากคือสิทธิ์ของคนพิการจะเน้นในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องสนับสนุน และการบริการต่างๆในการช่วยเหลือเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งถ้านำเอางานทั้งหมดเข้าไปอยู่ในระบบได้ นักสังคมสงเคราะห์ก็จะทำงานผ่านระบบทำให้เห็นภาพงานทั้งหมด การทำ MOU ในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นการสนับสนุนการใช้ระบบ AI เพื่อเข้ามามีส่วนช่วยในการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าว

ด้านนายชัยพร สุรเตมีย์กุล ประธานบริหารบริษัท บางกอกเมดิคอลซอฟต์แวร์ จำกัด (BMS Group) กล่าวว่าปัจจุบัน BMS เป็นบริษัทในการพัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลโดยมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณภาพการบริการตามมาตรฐานในทุกสาขาวิชาชีพ รวมทั้งเครือข่ายการดูแลของนักสังคมสงเคราะห์เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพซึ่งสิ่งสำคัญจะอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพและผู้รับบริการทั้งในเรื่องข้อมูลและการเข้ารับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้การทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะช่วยในเรื่องของการเก็บข้อมูลการจัดการข้อมูลให้ทั้งผู้รับบริการ และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เพื่อเป็นการบูรณาการและเชื่อมโยงตรวจสอบข้อมูลได้ในทุกที่ พร้อมมองว่าหากมีความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งประชาชนที่มารับบริการรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในการจัดการเชื่อมโยงระบบในภาพรวมของทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดการทั่วถึงเมื่อมารับบริการในโรงพยาบาล

ขณะที่นายแพทย์พรเพชร ปัญจปิยกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ ระบุว่า การดำเนินโครงการมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาระบบกระบวนการในการบันทึกฐานข้อมูลด้านต่างๆ ในการช่วยเหลือทางสังคมคู่ขนานไปกับการแพทย์เพื่อนำไปสู่การเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เดิมเป็นค่าใช้จ่ายแฝงในโรงพยาบาล โดยความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้การบริหารจัดการข้อมูลชัดเจนมีประสิทธิภาพรวมทั้งเรื่องของการเบิกจ่ายผ่านกองทุนประกันสุขภาพ จะดำเนินการได้อย่างครอบคลุมในเรื่องของงบประมาณและเกิดประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนักสังคมสงเคราะห์ ที่มีอยู่ทั้งประเทศอาจยังไม่เพียงพอต่อทุกพื้นที่ ซึ่งการที่มีแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยเก็บรวบรวมบูรณาการข้อมูลและให้บริการได้ผ่านระบบออนไลน์ เชื่อว่าโมเดลดังกล่าว จะทำให้สามารถให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่แม้ว่าจะไม่มีนักสังคมสงเคราะห์อยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือบริการทางสังคมได้อย่างยั่งยืน