”อลงกรณ์” กระชับสัมพันธ์ไทย-จีน ร่วมมือส่งเสริมการศึกษาและเทคโนโลยีเผย “เทนเซนต์” บริษัทยักษ์ใหญ่จีนพร้อมสนับสนุนไทยเจาะตลาด 1,300 ล้านคนขยายการค้าการท่องเที่ยวไทย
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเสิลด์วิว ไครเมท อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่1 และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยวันนี้ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีน และเศรษฐกิจเอเซียโดยมีนางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ และนายตู้ เทียนเฉียว เลขาธิการสมาคม Think Tank ร่วมการประชุมว่าด้วยการพัฒนาและความร่วมมือการศึกษาและเทคโนโลยีกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนชั้นนำของจีนในเซินเจิ้นภายใต้สมาคมการพัฒนาด้านการศึกษาเซินเจิ้นเพื่อยกระดับทางด้านการแลกเปลี่ยนและพัฒนาการศึกษาระหว่างไทย-จีน
โดยแสวงหาความร่วมมือ พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการศึกษา การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ความร่วมมือโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา และความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศผ่านระบการศึกษา ภายใต้การส่งเสริมนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (one belt one road) และแผนการปฏิรูปการศึกษาของไทยรวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมการศึกษาครั้งใหญ่ที่จะจัดให้มีขึ้นในประเทศไทย ในโอกาสครบรอบความสัมพันธไมตรีไทย-จีน 50 ปี ในปีหน้า ทั้งนี้คณะผู้บริหารการศึกษาเซินเจิ้นแสดงเจตจำนงอย่างกระตือรือร้นต่อการยกระดับความร่วมมือกับประเทศไทย
จากนั้นได้เดินทางไปดูระบบสมาร์ทคลาสรูม (smart classroom) หรือห้องเรียนอัจฉริยะสุดไฮเทคที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและเอไอ (AI) ในการเรียนการสอนแบบออนไซต์ (on-site) และออนไลน์ (on-line) โดยดร.ริคกี้ หลิว ซีอีโอ. ของบริษัทยินดีที่จะสนับสนุนการศึกษาของไทย
นอกจากนี้นายอลงกรณ์และคณะยังได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทเทนเซนต์ (Tencent) และเทนเซนต์ คราวด์ (Tencent Cloud) โดยมีทีมผู้บริหารของ Tencent Culture and Tourism ให้การต้อนรับและนำเสนอเทคโนโลยีของ Tencent Cloud และ Tencent Culture and Tourism โดยหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลคุณภาพสูงในประเทศจีนและไทยโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล AI และการพัฒนาแอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
โดย Tencent พร้อมสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่กว่า 1,300 ล้านคนผ่านเครื่องมือทางการตลาดซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการขยายการท่องเที่ยวและการค้าของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ในอนาคต เราหวังว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการค้าระหว่างจีนและไทยอย่างมุ่งมั่นโดยใช้เทคโนโลยี วัฒนธรรม และทรัพยากรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ การยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุตสาหกรรม การสร้างพื้นที่ความร่วมมือมากขึ้นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การค้า การศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนอย่างต่อเนื่อง นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด.