“กาฬสินธุ์” เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน มีหลักฐานทางโบราณคดีเป็นแหล่งซากไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์อื่นๆ มากมาย รวมทั้งยังมีความเจริญทางอารยธรรมเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนย้อนไปนับพันปี

ยิ่งกว่านั้น “กาฬสินธุ์” ยังเป็นแหล่งทำกินของเกษตรกรมาช้านาน สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นผลิตผล และผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ เน้นกระบวนการลดการใช้สารเคมี ทำให้ส่งผลดีทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเกษตรกรในจังหวัดนี้ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนเป็นอย่างมาก“เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี”

นายวินิจ ถิตย์ผาด ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน นวัตกรรม เกษตรอินทรีย์ยั่งยืน เริ่มต้นบทสนทนาด้วยถ้อยคำคุ้นชินของเหล่านักอนุรักษ์ที่มุ่งเน้นการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยและพึ่งพิงธรรมชาติ ทั้งยังเล่าต่อว่า“บริบทของเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติ ธรรมชาติต้องดูแลธรรมชาติ การดูแลผลผลิตของเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีลงไป สุขภาพของคนก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี ผลผลิตก็ดี ทุกอย่างก็ดีไปหมด แม้แต่รสชาติของพืชผัก ก็แตกต่างกันนะครับ ความขมจะไม่มี มีแต่ความหวานแบบธรรมชาติ แล้วก็กรอบ ถ้าแช่ตู้เย็นไว้ 15 วัน ก็ยังไม่เน่าเปื่อย”

นอกจากจะไม่ใช้สารเคมีแล้ว การใช้พลังงานเพื่อการผลิตของเกษตรกรที่นี่ก็อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเพื่อความยั่งยืนด้วยเช่นกัน โดยมีการประยุกต์ใช้แหล่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“ถ้าผลผลิตออกมาเยอะๆ เราก็ขายไม่ทัน ก็เอามาแปรรูป กระบวนการแปรรูปตรงนี้ เราก็มีตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ถ้าเราไม่มีตู้อบ เราตากแสงธรรมชาติ ถ้าฝนตกลงมา ก็ไปแล้วครับ จบเลย แต่แบบนี้ ถ้ามีฝนตกก็ไม่เสียหาย เพราะอยู่ในตู้” ประธานเครือข่ายฯ ปิดท้ายอย่างอารมณ์ดี

ขณะที่ นางดวงเดือน จักรปล้อง พลังงานจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงผลของการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานให้แก่เกษตรกรว่า ชุมชนในโครงการทั้งหมดสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้มากกว่าปีละ 17,000 บาท ลดการใช้ฟืน การใช้ถ่าน และก๊าซหุงต้มลงได้ คิดเป็นมูลค่ารวม 21,400 บาท

เห็นตัวเลขแล้วก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ ลองนำไปประยุกต์ใช้งานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและดูแลโลกไปพร้อมกัน และหากองค์ความรู้ด้านพลังงานถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอเข้าเยี่ยมชม เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ได้ที่ สวนจารุวรรณ วิสาหกิจชุมชน นวัตกรรม เกษตรอินทรีย์ยั่งยืน โทร. 084-3216553