บทความทางกฎหมายเรื่อง “มะลับ มะเร็ง ข้อมูลด้านสุขภาพบุคคลผู้ใดจะนำไปเปิดเผยไม่ได้”                   โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
๑๑ มกราคม ๒๕๖๗

“โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน เสียชีวิตประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน โรคมะเร็งที่พบมาก ๕ อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และ มะเร็งปากมดลูก

ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องการกำลังใจในการต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยต้องประสบกับปัญหาต่างๆ เป็นระยะ เช่น ระยะที่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งแล้วมีจิตใจหดหู่ ระยะที่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลช่วงหนึ่ง ขณะที่รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์ภายนอกบางอย่างที่สังเกตเห็นได้ เช่นผมร่วง ร่างกายสูบผอม และเมื่อโรคมะเร็งลุกลามมากจนผู้ป่วยอยู่ระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยอาจมีความอ่อนเพลีย ความคิดสับสน แต่ละช่วงเวลาผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างกันไป ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางราย พอทราบว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็ง อาการป่วยก็ทรุดลงทันที ทั้งที่ ก่อนทราบก็ใช้ชีวิตตามปกติ

การเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วย ทั้งอาการเจ็บป่วย รูปภาพของผู้ป่วยผ่านโลกอินเตอร์เน็ต อาจเกิดมาจากความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจหลุดมาจากประชาชนเอง หรือจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา บ้างก็มีเจตนาดีต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น การขอรับบริจาคเลือดหายาก
แต่ทั้งนี้ พึงจะต้องระวังในการโพสต์ข้อมูลเหล่านี้โดยที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยไม่อนุญาต เพราะ สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และ ขัดต่อพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมาตรา ๗ ที่ระบุว่า “ ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและอาจทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่ ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรง และไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของบุคคลไม่ได้”

และหาก แพทย์ เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วย มะเร็ง เสียเองอาจผิดได้ถ้า :

มาตรา ๓๒๓ ประมวลกฎหมายอาญา
“ ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพ เป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อมูลมุขภาพของบุคคล เป็น “ความลับส่วนบุคคล” ผู้ใดจะนําไปเปิดเผยในประการที่ น่าจะทําให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้

เหตุที่นำเรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล โดยเฉพาะ เรื่อง “มะเร็ง” ของบุคคลอื่น มาเปิดเผยโดยผู้อื่น (เจ้าของข้อมูล) ไม่อนุญาต หรือไม่ยินยอม จะกระทำไม่ได้
สืบเนื่องมาจากปรากฏข่าวว่า มีการนำ “ข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ” ของ ผู้นำองค์กรกระบวนการยุติธรรม เรื่องการป่วยเจ็บ (โรคมะเร็ง ) โดยกล่าวอ้าง/ อ้างอิงว่า “ป่วยเป็นโรคมะเร็ง” ทั้งที่ ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพ มิได้อนุญาต หรือ ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพดังกล่าว

หากเป็นเรื่องจริง……. ก็เป็น เรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต
แต่หากไม่เป็นเรื่องจริง…. นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลอื่น และเป็นความผิดตามกฎหมายดังที่กล่าวแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ถูกอ้างอิงถึงได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผู้นำองค์กร หรือ แม่ทัพขององค์กร ย่อมอาจทำให้บุคลากรในองค์กรอาจเสียขวัญ เสียกำลังใจได้

คนที่ยินยอมและอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะ “ป่วยโรคมะเร็ง” ได้ก็มี และ ที่เห็นเด่นชัด คือ ”คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์” ที่ออกมาเปิดเผยและแถลงข่าวว่า “ตนเองกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็ง” ขอยุติบทบาทและขอไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ

และเพื่อให้เกิดความเข้าใจกฎหมายในเรื่องดังกล่าว

ตาม พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗ “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” เป็น “ความลับส่วนบุคคล” ผู้ใด จะนําไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทําให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้
เว้นแต่ การเปิดเผยนั้น เป็ํนไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือ มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย
แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใด จะอาศัยอํานาจ หรือ สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือ กฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับ ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

“กฎหมายยกเว้นให้เปิดเผยได้” เช่น
พระราชบัญญัติิข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐
มาตรา ๒๔ “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” ที่อยู่ใ่นความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น โรงพยาบาลรัฐจะเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยต่อเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลแห่งนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ เป็นการนำข้อมูลไปใช้้เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนั้น หรือ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแห่งนั้นเอง กรณีนี้ก็เข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา ๒๔

ส่วน “การเปิดเผยข้อมูลที่ ไม่ต้องได้รับความยินยอม”
การนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้ให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางคลินิก หรือการศึกษาวิจัยเชิงระบาดวิทยา
ข้อมูลผู้ป่วยที่ หน่วยงานหรือนักวิจัยควรดำเนินการปกปิดชื่อ หรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ข้อมูลดังกล่าว ไม่ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอีก

แล้ว “ข้อมูลสุขภาพ” คือ อะไร ?

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๓ “สุขภาพ” หมายความว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล
“ข้อมูลด้านสุขภาพ” สะท้อนให้เห็นความหมายได้จาก

มาตรา ๘ ใน การบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องแจ้ง” ข้อมูลด้านสุขภาพ”ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด
และในกรณีที่ ผู้รับบริการ ปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นมิได้
ในกรณีที่ เกิดความเสียหายหรืออันตรายแก่ผู้รับบริการ เพราะเหตุที่ “ผู้รับบริการ” ปกปิด ข้อเท็จจริงที่ตนรู้และควรบอกให้แจ้ง หรือ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ผู้ให้บริการ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรืออันตรายนั้น
เว่นแต่ เป็นกรณีที่ ผู้ให้บริการ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

หากฝ่าฝืน ไปเปิดเผยข้อมูลสุขภาพของบุคคลอื่นโดยฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของข้อมูลสุขภาพ มีผลเช่นใด ? :

มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ หรือ มาตรา ๙ ต้องระวางโทษ “จําคุกไม่เกิน หกเดือน” หรือ “ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” หรือทั้งจําทั้งปรับ
แต่ความผิดตามมาตรานี้ “เป็นความผิดอันยอมความได้”

ดังนั้น เมื่อ การเปิดเผยข้อมูลสุขภาพบุคคล เป็น “ความผิดอันยอมความ” ได้ ก็สามารถ “ถอนคำร้องทุกข์” ได้เช่นกัน และเมื่อ “ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) และหากจะร้องทุกข์ ก็ต้อง ร้องทุกข์ ภายใน ๓ เดือน นับแต่รู้เรื่อง และรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖

นอกจาก พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วยังมี

ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การคุ้มครองและจัดการข้อมูลด้านสขภาพของบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๑

“ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลหรือสิ่งใด ๆ ที่แสดงออกมาในรูปเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใดที่ทําให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพของบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้และให้รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการเปิดเผยข้อมูล
อิเล็กทรอนิกส์ประกาศกําหนด

“ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่เป็นเอกสารหรือข้อความในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

การคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล
ข้อ ๑๓ “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” เป็น ความลับส่วนบุคคล จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้มีอํานาจกระทําการแทนตามข้อ ๑๔ (๒) – (๕) และตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และ การเปิดเผยจะทําให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลและผู้ครอบครองข้อมูลไม่ได้

ข้อ ๑๔ บุคคลดังต่อไปนี้มี สิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล
(๑) ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล
(๒) ผู้ที่ได้รับมอบอํานาจจากผู้เป็นเจ้าของข้อมูล
(๓) ผู้ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของข้อมูล
(๔) ผู้มีอํานาจกระทําการแทนเจ้าของข้อมูล คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม, ผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์
(๕) ทายาท ในกรณีผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเสียชีวิต (สามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรหรือผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง บุตรบุญธรรมตามกฎหมาย บิดาหรือมารดาตามความเป็นจริง)

ข้้อ ๑๕ บุคคลดังต่อไปนี้ มีอํานาจขอให้ “ผู้ควบคุมข้อมูล” เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของ
บุคคลโดย ไม่จําต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้มีอํานาจกระทําการ คือ

ศาล, พนักงานสอบสวนเจ้าหน้าที่ตํารวจ, คณะกรรมาธิการ, คณะกรรมการ, คณะอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่มีกฎหมายให้อํานาจในการเรียกเอกสารข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลได้

ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการนําข้อมูลไปใช้ในทางให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลหรือทายาท

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” ถือว่า เป็นความลับส่วนบุคคลที่บุคคลใดจะนำไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้ โดยเฉพาะการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะด้วย โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( โรคเอดส์) ฯลฯ หากฝ่าฝืนไปเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพโดยผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาต หรือไม่ยินยอม อาจได้รับโทษทางอาญาจําคุกไม่เกิน หกเดือน หรือ “ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” หรือทั้งจําทั้งปรับ

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หวังว่า ท่านคงจะไม่ไปเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพบุคคลอื่น โดยเขาไม่อนุญาต หรือไม่ยินยอม เพราะนอกจากอาจถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาดังที่กล่าวแล้ว แต่เราอาจเป็น “ผู้ที่ฆ่าเขาโดยเราไม่รู้ตัว” ก็ได้ หากผู้ป่วยโรคมะเร็งเกิดความเครียดแล้วเกิดอาการทรุดลง ดังคำกล่าวที่ว่า

“กาย และ จิต สัมพันธ์กัน”
กายดี จิตใจดี จิตทรุด กายทรุด

*** นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร