สนค. เผย เงินเฟ้อ ส.ค. 65 พุ่ง 7.86% หลังราคากลุ่มพลังงานยังพุ่งสูง หมู ไก่ ไข่ พริก ต้นหอม คะน้าแพง คาดเดือน ก.ย. เงินเฟ้อจะเริ่มลดลง หากไม่มีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 65 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไป เดือน ส.ค. 2565 เท่ากับ 107.46 เทียบกับ ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 0.05% เทียบกับเดือน ส.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 7.86% ซึ่งเป็นอัตราที่คงที่ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ มิ.ย.ที่ 7.66% ก.ค. 7.61% บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อถึงจุดสูงสุดแล้ว

โดยถือว่าทรงตัวและจะปรับตัวลดลงในระยะต่อไป ส่วนเงินเฟ้อรวม 8 เดือนปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) เพิ่มขึ้น 6.14% และเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 103.59 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2565 และเพิ่มขึ้น 3.15% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2564 และเฉลี่ย 8 เดือนเพิ่มขึ้น 2.16%

บรรยากาศภายในตลาดรังสิต มีติราคาหมูประชาชนเดินเลือกซื้อสินค้าผัก หมู ตลอดร้านอาหารภายในส่วนของตลาดที่จัดเป็นระเบียบติดป้ายราคาอาหารให้ประชาชนได้ตัดสินใจกอนซื้อ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น สาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงานที่เพิ่มขึ้น 30.50% แม้ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลง แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น รวมทั้งค่าบริการ เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 6.83%

ส่วนสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 9.35% โดยเฉพาะผักสด เช่น พริกสด ต้นหอม ผักคะน้า ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด รวมทั้งเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง และยังมีสาเหตุจากฐานเงินเฟ้อปีที่แล้วเดือน ส.ค. 2564 ต่ำ ทำให้เงินเฟ้อ ส.ค. 2565 เพิ่มขึ้นสูง ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าอีกหลายรายการที่ปรับลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เสื้อและกางเกงบุรุษ น้ำยารีดผ้า น้ำยาถูพื้น เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 65 คาดว่าจะเริ่มปรับลดลง หลังจากที่เริ่มทรงตัว และเห็นแนวโน้มลดลง โดยมีปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตาม เช่น ความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ การสู้รบไม่เพิ่มขึ้น ต้นทุนสินค้านำเข้าบางชนิดไม่เพิ่มขึ้น เงินบาทจะอ่อนค่าแค่ไหนจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ราคาพลังงานปลายปีจะเพิ่มขึ้นหรือไม่จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกพลังงานของรัสเซียจะเป็นอย่างไร

ส่วนปัจจัยภายใน ราคาสินค้าและบริการทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยผู้ผลิตยอมรับได้ ผู้บริโภคไม่กระทบเกินไป ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้ดีเซลยังไม่ลด และฐานเงินเฟ้อปีที่แล้วอยู่ในระดับสูง เงินเฟ้อตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 65 น่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก และมาตรการช่วยลดค่าครองชีพของรัฐบาลยังมีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า รวมทั้งความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น จะทำให้ผักสดขาดแคลนและราคาเพิ่มขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ต้องติดตามผลกระทบว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งบางบริษัทที่เป็นบริษัทต่างชาติ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาสินค้าตามบริษัทแม่ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ยังคงที่ประเมินไว้ใหม่คือ 5.5-6.5% มีค่ากลาง 6% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมิน 4.2-5.5% ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. 6.2% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 6.5% คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน 5-7% ธนาคารพาณิชย์ ประเมิน 5.2-6% และธนาคารโลก 5.2% เป็นต้น