นครราชสีมา – อุทยานแห่งชาติทับลาน งดเยี่ยมลูกช้างพลัดหลงโขลง หลังอาการขาหักยังไม่ดีขึ้น เตรียมประสานทีมสัตวแพทย์เชี่ยวชาญกำหนดแผนรักษาขั้นต่อไป

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยถึงอาการของลูกช้างป่าเพศผู้แรกเกิด ที่พลัดหลงออกจากโขลง หลังจากออกจากป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน เข้าไปหากินภายในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างมาทำการรักษาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ ทล.08 (ตลิ่งชัน) และตรวจสอบพบว่าลูกช้างมีอาการหัวกระดูกต้นขาส่วนปลายหักผิดรูป ที่บริเวณขาหลังด้านขวา ซึ่งอาการของลูกช้างล่าสุดพบว่า แผลถลอกตามร่างกายรอยเก่าเริ่มแห้งขึ้น แต่มีรอยใหม่ที่เกิดจากการเจ็บขาแล้วล้มตัวนอน ไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ สะดือที่ยังไม่ปิดสนิท มีขนาดโพรงแคบลง มีความลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยังมีเนื้อเยื่อสร้างหนองด้านในปริมาณเล็กน้อย สัตวแพทย์ทำการล้างสะดือ ขัดหนองออก ใส่ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง ลูกช้างมีความอยากกินนมดี ดูดกินนมจากขวดเองได้ ทางทีมแพทย์จึงได้ปรับปริมาณนมที่ให้กินต่อมื้อเพิ่มขึ้น ปริมาณการกินนมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมเสริมวิตามินซี แคลเซียมแบบเม็ด ซึ่งลูกช้างสามารถกินได้ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตามลูกช้างยังมีอาการเจ็บขาหลังขวา โดยมีแนวโน้มของอาการรุนแรงขึ้นจากเดิม กล้ามเนื้อบริเวณโคนขาหลังขวาบวม โดยลูกช้างยังสามารถใช้ขาข้างที่เจ็บแตะพื้นได้บ้างในลักษณะย่อขา มีอาการลากขาเป็นระยะ แสดงอาการเจ็บขาและร้องเมื่อมีการเปลี่ยนท่า ทางทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาเบื้องต้นโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ ให้ยากินลดปวด ลดอักเสบ ให้ยาป้องกันการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ทายาลดปวดบริเวณขาทั้งสองข้าง พันผ้ายืดบริเวณโคนขาหลังขวาที่มีการบวม ช่วยพยุงให้ลุกยืนเมื่อแสดงอาการยืนเองลำบาก กั้นคอกให้มีพื้นที่น้อยลงเพื่อจำกัดบริเวณให้เดินอย่างเหมาะสม

หลังจากนี้ทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการประสานงานปรึกษาแนวทางการรักษาลูกช้างกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาช้าง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวางแผนหาวิธีที่เหมาะสมต่อไปอย่างเร่งด่วน แต่ยังคงเน้นดูแลลูกช้างให้มีความแข็งแรงมากที่สุด เพื่อเตรียมที่จะเข้ารับการผ่าตัดในขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว ทั้งนี้ทางอุทยานแห่งชาติทับลานได้ขอความร่วมมืองดผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ลูกช้าง เพื่อไม่ให้ลูกช้างเกิดความเครียดหรือเคลื่อนไหวเกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการรักษาได้.

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา