วันนี้ ผู้เลี้ยงไทยคงพอได้หายใจบ้าง จากการไล่ล่า “ขบวนการหมูเถื่อน” อย่างเข้มข้น นำทีมโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำให้จับกุมตัวผู้กระทำผิดได้แล้ว 6 คน จากที่ออกหมายจับ 8 คน ที่สำคัญผู้เลี้ยงมีกำลังใจมากขึ้นร่วมใจกันทั่วประเทศปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้น 4 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 68-77 บาทต่อกิโลกรัม (วันพระที่ 29 ตุลาคม 2566) และหวังว่าแนวโน้มราคาจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมเกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคจ่ายคล่อง ไม่ใช่ราคาตกต่ำยาวนานเช่นช่วงที่ผ่านมา

DSI ทยอยเปิดข้อเท็จจริงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 หลังรับ “หมูเถื่อน” เป็นคดีพิเศษ ทีมสอบสวนได้เรียกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งสายเรือและเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์มาให้ปากคำ เพื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐานได้ก็เดินหน้าขยายผลการจับกุมแบบติดจรวด เริ่มจากเปิดตู้คอนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ พบหมูเถื่อน 45,000 ตัน จาก 17 สายเดินเรือ และบริษัทผู้นำเข้า 18 ราย ซึ่งนำไปสู่การทำลายซากที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยการเข้าตรวจค้น 2 บริษัทล่าสุด กำลังตามจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 ราย เป็นการขยายผลต่อเนื่องจากการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายศาลล็อตแรก 6 คน จาก 5 บริษัท

การขยายผลทำให้ DSI พบว่า ช่วงปี พ.ศ.2564 – กรกฎาคม 2566 มีหมูเถื่อนลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรสำแดงเท็จเป็นโพลิเมอร์และอาหารทะเลแช่แข็งจำนวน 2,385 ใบขนสินค้า น้ำหนักหมูเถื่อนมากกว่า 76,000 ตัน หรือ มากกว่า 76 ล้านกิโลกรัม มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท เกิดคำถาม เหตุใดเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเหล่านี้จึงผ่านพิธีการศุลกากร ออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปสู่ตลาดโดยตรวจสอบไม่พบ เมื่อย้อนกลับไปดูข่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2565 กรมศุลกากร ยังร่วมกับ กรมปศุสัตว์และตำรวจ จับกุมบริษัทนาสาครห้องเย็น ในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ของกลางหมูเถื่อน 160 ตัน ยิ่งตอกย้ำกระแสสื่อฯที่มองว่า “ข้าราชการมีเอี่ยว”

จากตัวเลขดังกล่าว เชื่อว่าหมูเถื่อนน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามามากกว่าที่ตรวจพบ แต่จะตรวจสอบให้หมดนั้น กรมศุลกากร ต้องส่งมอบเอกสารหลักฐานการนำเข้าสินค้าต้องสงสัยให้ DSI ทั้งหมด เพื่อนำไปขยายผลการสอบสวนและกวาดล้างขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน ที่ประเมินว่าสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมสุกรไทยไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาท ที่สำคัญทำให้กลไกราคาและกลไกตลาดการค้าสุกรในไทยบิดเบือนไปมาก ผู้เลี้ยงหมูต้องประสบปัญหาขาดทุนจากการกดราคาหมูเถื่อนให้ต่ำ จนถึงขณะนี้ แม้จะตรวจสอบไม่พบการนำหมูเถื่อนเข้ามาใหม่ แต่คาดว่ายังมีหมูเถื่อนที่ยังคงซุกซ่อนในห้องเย็นทั่วประเทศจำนวนมาก และรอจังหวะระบายของเพื่อเลี่ยงการจับกุม

ข้อสังเกตุสำคัญจากข้อมูลดังกล่าว คือ เหตุใดหมูเถื่อนจำนวนมากจึงทะลักเข้ามาในประเทศไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากไม่มีคนอำนวยความสะดวกในการดูแลต้นทางเป็นอย่างดีให้ “ของโจร” เข้าบ้าน กรณีหมูเถื่อน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบใบนำเข้าสินค้าเป็นไม้แรก ก่อนส่งต่อไปตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย สารตกค้างและโรคระบาด ที่อาจติดมากับเนื้อสัตว์ คือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง ต้องพิสูจน์ทราบว่าสินค้าตรงกับเอกสารหรือไม่ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของกรมศุลกากร ควรตรวจพบได้จากเอกสารนำเข้าและการตรวจสอบทางกายภาพจากเครื่องเอ็กซเรย์ตั้งแต่แรก ดังนั้น กรมศุลกากร จึงมีบทบาทสำคัญในการชี้เป้าให้ DSI ตามขั้นตอนเช่นที่ผ่านมา เพื่อขยายผลการจับกุมให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

บทอวสาน “หมูเถื่อน” กำลังใกล้เข้ามา หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ดูแลกรมศุลกากรโดยตรง เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสั่งการถึงสองครั้งสองครา กำชับให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างโปรงใส และปราบปรามถอนรากถอนโคนเร่งด่วน สาวให้ถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการทำลายเศรษฐกิจประเทศและกำลังใจของผู้เลี้ยงหมูไทย ที่เลี้ยงหมูเป็นชีวิตจิตใจและเป็นมรดกสืบทอดกันมา ต้องนำตัวผู้บงการไปลงโทษสูงสุดตามกฎหมาย และทำการยึดทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริตทั้งหมด รวมถึงการเอาผิดทางวินัยกับข้าราชการที่มีส่วนได้เสียกับการนำเข้า “หมูเถื่อน” มาทำลายชาติในครั้งนี้

โดย…เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระ