พ.ร.บ.พืชกระท่อม มีผลบังคับใช้แล้ว 27 ส.ค.2565 ห้ามขายเด็กต่ำ 18 ปี หญิงมีครรภ์-ให้นมบุตร ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ โดยกฎหมายให้นิยามใบกระท่อม หมายความถึง ใบของพืชกระท่อม และให้รวมถึงน้ำต้มใบของพืชกระท่อม และสารสกัดที่ได้จากใบของพืชกระท่อม
สาระของกฎหมายครอบคลุม การขออนุญาต การนำเข้าส่งออกใบกระท่อม การพักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อม และการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด บทกำหนดโทษ จึงขอให้ประชาชนศึกษากฎหมายให้ดี เพื่อการใช้พืชกระท่อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อม และการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด
มาตรา 10 ผู้ใดประสงค์จะนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อมต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ซึ่งหมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หรือผู้ซึ่งเลขาธิการป.ป.ส.มอบหมาย
มาตรา 24 ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมหรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบแก่บุคคลดังต่อไปนี้ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร บุคคลอื่นใดตามที่ รมว.ยุติธรรม และรมว.สาธารณสุข ร่วมกันประกาศกำหนด
มาตรา 25 ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมในสถานที่ โดยวิธีการหรือในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก ขายโดยใช้เครื่องขาย ขายในสถานที่โดยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใดตามที่ รมว.ยุติธรรม และรมว.สาธารณสุข ร่วมกันประกาศกาหนด
มาตรา 26 ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดใบกระท่อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจสาธารณชนให้บริโภคใบกระท่อมที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา วัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย หรือวัตถุอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27
มาตรา 33 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรา 34 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
น.ส.รัชดา กล่าวว่า กฎหมายยังกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนประชาชนในการเพาะปลูก หรือแปรรูปพืชกระท่อม เพื่อใช้ตามวิถีชุมชน และในการพัฒนาให้เป็นพืชที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาทั้งการเพาะปลูกและแปรรูป หรือการพัฒนาสายพันธุ์ของพืชกระท่อม การผลิต การจัดการ และการตลาดด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ ผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้พืชกระท่อมในทางการแพทย์ และสร้างรายได้แก่เกษตรกร
ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและขยายกระท่อมพันธุ์ดี แจกจ่ายแก่เกษตรกรหลายแสนต้นไปแล้ว เพื่อให้ปลูกเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านในครัวเรือน และสามารถนำไปพัฒนาอาชีพเป็นพืชทางเลือกในอนาคต
“ขอให้ประชาชนศึกษากฎหมาย เพื่อให้การใช้พืชกระท่อมเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ โดยไม่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย” น.ส.รัชดา กล่าว