สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และภาคีเครือข่ายสังคมสงเคราะห์ แถลงข่าวเดินหน้า โครงการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อขยายผลการทำงานในระดับพื้นที่ของ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการในระยะที่สอง และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนโยบายในการผลักดันและให้ความสำคัญกับการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล และการนำSocial telecare เป็นส่วนหนึ่งที่จะลดปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ ปัญหาการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุข ที่จะช่วยให้กลุ่มผู้ป่วยเปราะบางเข้าถึงการรับบริการอย่างทั่วถึง

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

ผอ.สำนัก 7 นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่าปัจจุบันสังคมไทยยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์จึงมีความสำคัญ ในการประสานความร่วมมือจากภาคราชการ ภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานภาคสังคมต่างๆในการเข้าไปดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ผ่านมาโครงการในระยะแรกมีการนำเอาเครือข่ายของนักสังคมสงเคราะห์ที่มีอยู่มาพัฒนาศักยภาพในการเข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ป่วย คนพิการและผู้สูงอายุเพื่อให้ได้รับการดูแล โดยย้ำว่าต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายแพทย์พรเพชร ปัญจปิยะกุล

ขณะที่ในระยะที่สองที่กำลังจะดำเนินการต่อเนื่อง จำเป็นที่ต้องใช้นักสังคมสงเคราะห์ในการเชื่อมประสานกับหน่วยงานอื่นๆ นอกระบบบริการสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานระดับจังหวัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการเข้าไปดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งในด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา รวมทั้งคุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ท้าทายการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม

นายแพทย์พงศ์เทพ ยังระบุว่า นอกจากนี้ นักสังคมสงเคราะห์ยังต้องมีบทบาทในการดูแลสุขภาวะโดยจะทำอย่างไรที่จะเชื่อมประสานกับโรงพยาบาล บุคลากรทางในการดูแลทางไกลผ่านระบบ Social telecare เพื่อทำให้กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลและเข้าถึงจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายซึ่งนักสังคมสงเคราะห์จะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญ ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสานต่อนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้การบูรณาการและการดำเนินโครงการประสบความสำเร็จต้องเริ่มจากความมุ่งมั่นเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและความไว้วางใจซึ่งกันและกันเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและชี้นำสังคมเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีในทุกภาคส่วน

ขณะที่นายแพทย์พรเพชร ปัญจปิยะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการสาธารณสุข ระบุถึงการขยายผล platform Social telecare สู่ระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ว่าในระยะแรกนั้นมีการพัฒนาในรูปแบบของ platform และการพัฒนาบุคลากร ให้มีความชำนาญในการใช้ระบบเทคโนโลยี ส่วนการพัฒนาในระยะที่สอง จะเน้นในเรื่องของการจัดการเครือข่ายในภาพรวมระหว่างสถานพยาบาลกับสถานพยาบาล รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่ให้บริการซึ่งระบบข้อมูลจะสามารถเชื่อมโยงกับระบบประกันสุขภาพกับฐานข้อมูลในโรงพยาบาลในการให้บริการทั้งด้านสุขภาพและด้านสังคมที่จะเชื่อมโยงข้อมูลกันเป็นเครือข่าย ซึ่งหากในอนาคตสามารถเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่นๆได้ทั่วถึงเชื่อว่าจะสามารถทำให้กลุ่มเปราะบางต่างๆในแต่ละประเภทได้รับการแก้ปัญหาและได้รับความช่วยเหลือผ่านการเชื่อมต่อข้อมูลในทุกด้าน

นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพของประชาชนเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน หลายมิติ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยบริการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องใช้การประเมินปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกมิติของชีวิตบุคคล ครอบครัวและชุมชน บทบาทหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์จะช่วยประเมินสภาพปัญหา ที่จะกระทบต่อสุขภาพ กระทบต่อคุณภาพชีวิต นักสังคมสงเคราะห์ช่วยแก้ไขปัญหา และเสริมพลังเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง การเสริมพลังครอบครัว บนพื้นฐานการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการบริหารจัดการทรัพยากรทางสังคมที่จะสนับสนุนการดูแลทางสังคม ร่วมกับชุมชน ท้องถิ่นที่จะต้องดูแลประชาชน เพื่อลด และป้องกันความรุนแรงของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในอนาคตกับคนทุกช่วงวัย

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ชี้แจงถึงความเป็นมาและความสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวว่าจะทำให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า โดยช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ การรักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ถูกกระทำความรุนแรง หรือกลุ่มที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ โดยกลไกลนักสังคมสงเคราะห์จะช่วยลดปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย รวมทั้งประสานการทำงานจากภายในและภายนอกสถานพยาบาล หน่วยงาน ที่จะสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการดูและทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ ยังระบุว่าที่ผ่านมามีการสนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์เพื่อทำงานในสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ ปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และทรัพยากรที่มี ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานให้ทันกับสถานการณ์ และเกิดการพัฒนาเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ทั้งสายงานด้านการแพทย์ ด้านสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพที่จะช่วยผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางอื่นๆ

ทั้งนี้ Social telecare นับเป็นสะพานเชื่อมระบบข้อมูลระหว่าง A-MED home ward การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน กับระบบ HOSxP ภายในโรงพยาบาล หากทำให้Platform ทั้ง 3 ระบบเชื่อมกัน Data set ร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยลงจะทำให้ระบบการดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับ โครงการนี้ มีกิจกรรมเด่นๆ ที่จะดำเนินงาน อาทิ พัฒนาเครื่องมือประเมินปัญหาทางสังคมใน Platform Social Telecare จาก23 รายการเป็น 32รายการ และพัฒนาคู่มือการใช้งาน รวมไปถึง เชื่อมต่อ Platform Social Telecare กับระบบข้อมูลโรงพยาบาล ทดลองใช้งานระบบทั้งการบันทึกข้อมูล รายงานข้อมูลผู้ป่วยให้ทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล พัฒนาทักษะการใช้งานของนักสังคมสงเคราะห์ และทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานขยายการเรียนรู้ ไปสู่หน่วยงานภายนอก ซึ่งจะสร้างและพัฒนาด้านดิจิทัล ให้นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อพัฒนาระบบบริการคลีนิคสังคมสงเคราะห์ให้เป็น1หน่วยบริการในโรงพยาบาลที่เข้าสู่ระบบ E-claim ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ