ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี จัดพิธีเปิด “ศูนย์สาธิตการจัดการเรียนรู้แบบ High Scope ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่องแห่งแรกของภาคใต้” ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 เพื่อยกระดับขีดความสามารถและปิดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยในท้องถิ่น ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ “High Scope” โดยมีนายปราโมทย์ ศรีวิสุทธิ์ ท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ และนายเกรียงศักดิ์ ผดุงกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี กล่าวต้อนรับ อาจารย์ ดร.พงศ์พันธุ์ คำพรรณ์ หัวหน้าสาขาวิชาครุศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะครู อาจารย์ แขกผู้มีเกียรติในพื้นที่และผู้ปกครองเข้าร่วม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก ยกระดับเป็น “ศูนย์สาธิตการจัดการเรียนรู้แบบ High Scope ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่องแห่งแรกของภาคใต้” เกิดจากการ บูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรีและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อดำเนินโครงการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กปฐมวัย มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถและปิดช่องว่างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ “High Scope” สร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับการพัฒนาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ โดยจัดทำ Pilot project นำร่อง ตามแนวทางของโครงการด้วยกระบวนการอบรมและศึกษาดูงาน พร้อมทั้งทดลองดำเนินการจัดกิจกรรมการสอนตามแนวทาง High scope มีการเก็บข้อมูล การสำรวจสถานการณ์เด็กปฐมวัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ผ่านแบบสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา ผลการดำเนินงานและผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก ผ่านการประเมินด้วยผลคะแนนกว่าร้อยละ 95 จากผู้ประเมินศูนย์อบรม High Scope ต้นแบบ “ไรซ์ไทยแลนด์” โรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็กแห่งนี้ โดยเฉพาะทักษะ Executive Functions : EF หรือทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนถิ่นและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และนำมาสู่ผลงานเชิงประจักษ์ด้านการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย สังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช และยังสอดคล้องกับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายที่ 4 ความเสมอภาคทางการศึกษาอีกด้วย
“การจัดการเรียนการสอนแบบ “High Scope”เป็นการสอนที่เน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำผ่านการเล่น และสื่อกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก พร้อมเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหาและให้โอกาสเด็กมีความคิดริเริ่มในการออกแบบการเล่นได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ ตามทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเปียเจต์ นักการศึกษาคนสำคัญของโลก ซึ่งการสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนเป็นพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะการเรียนรู้แบบลงมือทำ หรือ Active Learning ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง สร้างกระบวนการคิดและความเข้าใจ มีองค์ความรู้และทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนแบบ ไฮสโคป ถือเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของเด็กโดยแท้จริง ที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กเมื่อทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยตนเอง เป็นการฝึกการเรียนรู้ การทำงานอย่างมีระบบ ขั้นตอน และเรียนรู้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าว