กรมควบคุมโรคห่วงปีนี้ผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง ภาพรวมทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5 พันคน ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีเกือบ 4 หมื่นคน เสียชีวิตกว่า 40 คน พบพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด มีผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ ประกาศเข้มควบคุมโรคในช่วง 4 สัปดาห์นับจากนี้ พร้อมตั้งหน่วย CDCU plus VCU ประสานท้องถิ่น คุมเข้มหวังลดจำนวนผู้ป่วย ชี้หากยอดยังเพิ่มต่อเนื่อง เล็งเพิ่มมาตรการให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำแบบเดียวกับโรคโควิด-19 ช่วงระบาดหนัก

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกพบว่ามีพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด คือแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส และ กทม. พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ภาพรวมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5 พันคน ทำให้มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้มีเกือบ 4 หมื่นคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 40 คน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการระบาดครั้งล่าสุดในปี 2562 ที่ผู้ป่วยทั้งปีกว่า 7 หมื่นคน และเสียชีวิตกว่า 70 คน หากจำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ อาจจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อทำการควบคุมโรคให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับทีมสาธารณสุขในพื้นที่ 30 อำเภอ ของ 18 จังหวัด และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งรัดการควบคุม ป้องกันโรคในช่วง 4 สัปดาห์นับจากนี้คือวันที่ 21 ก.ค.-18 ส.ค. และทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของ 18 จังหวัดดังกล่าว ดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น รวมทั้งจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เรียกว่า CDCU plus VCU และประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก และมอบนโยบายเร่งด่วนให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 38 แห่งทั่วประเทศ ให้การสนับสนุนวิชาการและทรัพยากร เพื่อลดผู้ป่วย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ประกาศกำหนดให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ถ้ามีจำนวนผู้ป่วยสูงต่อเนื่องต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ในการประกาศสถานที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการตามมาตรา 34 แบบเดียวกับการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย เช่น โรคโควิด-19 ในระยะ 2 ปีแรก ทั้งนี้ ข้อกำหนดในกฎหมายจะทำให้ทีมงานสาธารณสุขในพื้นที่สามารถเข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคได้ เช่น เข้าไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และพ่นสารเคมีเพื่อฆ่ายุงตัวแก่ในบ้าน วัด โรงเรียน โรงแรม หรือสถานที่อื่นๆที่อาจเข้าไปไม่ได้ในสถานการณ์ปกติ และยังกำหนดให้เจ้าของสถานที่ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายและแก้ไขสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมควบคุมโรครายงานว่า ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค.2566 มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 556 คน เฉลี่ยวันละ 79 คน เสียชีวิต 8 คน เฉลี่ยวันละ 1 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 178 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 126 คน ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้เสียชีวิตทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน จากข้อมูลผู้เสียชีวิตสะสมปี 2566 จำนวน 749 คน พบปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อคืออยู่ในชุมชนแออัดและการได้รับเชื้อจากคนในครอบครัว จึงยังต้องเดินหน้ารณรงค์ให้มาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อไป โดยใน กทม.พบผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดถึง 116 คน กรมควบคุมโรคคาดการณ์โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และย้ำเตือนประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งโดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 เด็กเล็กและอยู่ในพื้นที่หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน