บ้านมาบคล้า เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ใน อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ที่นี่คนในชุมชนได้มีการร่วมกลุ่มกัน และรื้อฟื้นความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการถนอมอาหารของชุมชน มาพัฒนาให้เป็นสินค้าของตำบล ได้แก่ กลุ่มปลาส้มปลาจีนไร้ก้างบ้านมาบคล้า โดยในระยะเริ่มแรกได้ร่วมกันผลิตจำหน่ายในระดับหมู่บ้าน จนได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน ในการซื้อเพื่อเป็นอาหารภายในครัวเรือน จนปัจจุบันได้ขยายตัวเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบลคลองขลุง
ในอดีตหมู่บ้านมาบคล้ามีความรู้ในการทำปลาส้ม คนเก่าคนแก่ในชุมชน ที่ใช้วิธีการถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน จึงได้มีการนำปลาหลากหลายมาแปรรูป เพื่อเก็บไว้กินได้นานๆ และจำหน่าย จนกลุ่มได้พัฒนารูปแบบการผลิตปลาส้มไร้ก้าง โดยใช้ปลาจีนที่เป็นวัตถุดิบที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด เป็นวัตถุดิบในการผลิต จนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
ขั้นตอนการทำปลา เริ่มจากนำปลาไปล้างน้ำเปล่าสะอาดก่อน เพื่อล้างเมือกปลาออกก่อน จากนั้นก็นำปลามาขอดเกล็ด แล้วก็ทำการดึงไส้ปลาออก ต่อจากล้างทำความสะอาดปลาอีกรอบ จากนั้นนำปลาไปชำแหละดึงก้างออก นำปลาที่ดึงก้างเสร็จแล้ว มาล้างน้ำด้วยน้ำสะอาดผสมสารส้ม และเกลือเพื่อดับกลิ่นคาว 1 ครั้ง ล้างด้วยน้ำสะอาดจำนวน 2 ครั้ง และหั่นปลา ตกแต่งและบั้งปลาเป็นชิ้นและหั่นตามขนาดที่ต้องการ และพักไว้บนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ เมื่อได้ที่แล้วนำปลาจีนที่หั่นเรียบร้อยแล้วมาผสมกับเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน และทำการนวดทุกชิ้น พักไว้ครึ่งชั่วโมง จากนั้นนำกระเทียมที่โขลกไว้มาผสม พร้อมกับข้าวเหนียวสุก ทำการคลุกเคล้าอีกรอบให้ทั่วชิ้นปลา จากนั้นจัดเรียงใส่ถุงและบรรจุในถุงพลาสติกที่สะอาด วางเรียงให้สวยงาม หมักไว้ 2 วัน เมื่อครบ 2 วันแล้ว จึงนำปลาที่บรรจุในถังพลาสติกออกมาบรรจุใส่ถุงขนาดถุงละ 500 กรัม และซีลด้วยเครื่องซีลสุญญากาศ จากนั้นติดฉลากลงบนผลิตภัณฑ์และส่งจำหน่ายต่อไป
นางนิยม ทรัพย์ประสาร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านมาบคล้า บอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้มีอาชีพเสริมมีเงินเพิ่มขึ้นในครัวเรือน จึงได้มารวมกลุ่มขึ้นเพื่อขอให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาส่งเสริมอบรมให้ความรู้ฝึกอาชีพให้ เดิมทีทำเป็นปลาร้า เนื่องจากคิดว่าไม่ได้ทำขายที่อื่นเพียงแต่ทำขายในหมู่บ้านของเราเอง ซึ่งเป็นอาหารหลักในหมู่บ้านของเราอยู่แล้ว ปรากฏว่าทำไปแล้วขายดีขายยกไหเลย จากนั้นคิดว่าปลาร้ามีแล้ว ลองทำปลาส้มดีไหม เลยนำปลาที่หาได้ตามธรรมชาติตัวเล็กตัวน้อย ปรากฏว่าขายดีเช่นกัน แต่ว่าทางกลุ่มไม่ได้ใส่สารกันบูดจึงทำให้ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านมาบคล้า บอกต่อว่า จากความต้องการดังกล่าว จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นปลาตัวใหญ่ เพื่อที่จะจำหน่ายไปในหมู่บ้านใกล้เคียง เห็นว่าปลาจีนเหมาะสมที่สุด เป็นปลาตัวใหญ่ มีก้างใหญ่ไม่มากสามารถนำก้างออกได้ง่ายไม่ยุ่งยากต่อการแปรรูป จึงลองนำปลาจีนมาทำ โดยได้รับองค์ความรู้จากพัฒนาชุมชนอำเภอคลองขลุง จากนั้นมีหน่วยงานต่างๆ เขามาเพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะได้มาลักษณะนี้ ขาดทุนมาตลอดระยะยาวเลย ซึ่งวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ค่อนข้างจะแพง ได้กำไรน้อย บางครั้งไม่ได้กำไรเลย เมื่อทำเสร็จแล้วได้แจกฟรีทดลองชิมบ้าง เพื่อที่จะได้เสียงติชม เมื่อได้เสียงติชมแล้วนำมาปรับปรุง กว่าจะได้สูตรที่ลงตัวเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งตอนนี้ได้ปรับราคาจากเดิมขายกิโลกรัมละ 120 บาท เป็นกิโลกรัมละ 180 บาท