สำนักข่าว บีบีซี, ซีเอ็นเอ็น และรอยเตอร์ส ต่างเกาะติดสถานการณ์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ซึ่งผลการโหวตครั้งแรกปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว ได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

บีบีซี ระบุว่า นายพิธา ซึ่งได้รับชัยชนะอย่างเหนือความคาดหมายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองของรัฐบาลทหารฝ่ายอนุรักษนิยมที่ดำเนินมานานเกือบ 10 ปี ได้คะแนนโหวตจากสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดก่อน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตามความคาดหมาย

ทั้งนี้ผลการลงมติ นายพิธาได้รับความเห็นชอบจาก 2 สภารวม 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง โดยการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

หลังรู้ผลการโหวต นายพิธา บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองยอมรับผลที่ออกมาแต่จะไม่ยอมแพ้ และจะใช้ช่วงเวลานี้ในการหาเสียงสนับสนุนมากขึ้น

ขณะที่ รอยเตอร์ส ระบุว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีนี้ถือเป็นบททดสอบสำคัญของนายพิธา กับฝ่ายค้านแนวคิดต่อต้านระบบแบบเก่า (anti-establishment) ของเขา ซึ่งรวมถึงการแยกทหารออกจากการเมือง, ยุติการผูกขาดธุรกิจ และอื่นๆ

นอกจากนั้น นายพิธา ยังเผชิญกับข้อกล่าวหาหลายเรื่อง และเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญของไทยได้รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นไอทีวีแล้ว

บีบีซี แสดงความกังวลว่า สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้เกิดความเสี่ยงด้านความไม่สงบทางการเมืองจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งกซ้ำรอยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความหวังของประชาชนชาวไทยหลายสิบล้านคนที่จะได้เห็นการเริ่มต้นใหม่ของประเทศ ดูเหมือนจะถูกขัดขวาง

“ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบมากมาย แต่อย่างน้อยก็จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งนั้นควรมีความหมายอะไรสักอย่าง ฉันจะออกไปลงคะแนนเสียงทำไมอีก เพราะเห็นชัดๆ ว่าคะแนนโหวตของฉันไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว” หนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลบอกกับบีบีซี