นครราชสีมา – เข้าสู่หน้าฝน 4 จังหวัดอีสานใต้ โรคมือเท้าปาก ระบาดในเด็กเล็กแล้วกว่า 1 พันราย สคร.9 แนะศูนย์เด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก วางมาตรการป้องกันการระบาดเข้ม
สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9) ได้แจ้งเตือนไปตามโรงเรียนต่างๆ ว่า ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว ทาง สคร.9 นครราชสีมา จึงขอความร่วมมือครูผู้ดูแลเด็กขอให้คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หากเด็กมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคมือ เท้า ปากว่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัส ผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 6 มิถุนายน 2566 มีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 14,856 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0-4 ปี ร้อยละ76.51 รองลงมาคือ อายุ 5 ปี ร้อยละ 9.69 และกลุ่มอายุ 7-9 ปี ร้อยละ 5.69 ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบไปด้วย 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 3 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก จำนวน 1,091 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 469 ราย จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 276 ราย จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 217 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 129 ราย
กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี ร้อยละ 77.54 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี ร้อยละ 52.35 และกลุ่มอายุ 10 – 14 ปี ร้อยละ 2.46 ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ เด็กในปกครองร้อยละ 85.61 รองลงมาคือ อาชีพนักเรียน ร้อยละ 13.57
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคมือเท้าปาก มีดังนี้ 1.ครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ควรคัดกรองนักเรียนเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนควรดำเนินการอย่างเข้มข้น ให้นักเรียนที่มีอาการป่วยหยุดเรียนจนกว่าจะหาย และให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองหากเด็กมีอาการรุนแรงให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล 2.ทำความสะอาดสถานที่และอุปกรณ์ของเล่น/ของใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยแช่ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของโซเดียม ไฮโปคลอไรท์ ที่มีความเข้มข้น 600 ppm. ระยะเวลา 10-15 นาที อย่างทั่วถึง 3.ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่นของใช้ จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ 4.ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.
โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา