สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยโครงการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคม ของสหวิชาชีพ เปิดเวทีสาธารณะก้าวต่อไปการพัฒนา Social Telecare platform สู่ Telemedicine ในอนาคต ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานโครงการในการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพเพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ เกี่ยวกับการใช้ Social Telecare Sandbox และทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก7) สสส.กล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นกลไกการพัฒนานักสังคมสงเคราะห์ผ่าน Social Telecare ที่พยายามเชื่อมโยงนักสังคมสงเคราะห์ในการพัฒนาทักษะการใช้ข้อมูลการเชื่อมโยงผ่านระบบ Application เพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถใช้ข้อมูลในการดูแลกลุ่มเปราะบางกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากการที่นักสังคมสงเคราะห์สามารถมีข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง กลุ่มคนพิการกลุ่มเด็ก ที่พบปัญหาทางด้านสังคมส่วนใหญ่มีปัญหาในด้านการเข้าถึง โครงการนี้จะทำให้นักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทในการเข้าไปช่วยเหลือและเชื่อมโยงกับสหวิชาชีพและบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งจะแก้ปัญหา สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เฉพาะปัญหาทางด้านการเจ็บป่วยการรักษาพยาบาลหรือปัญหาพื้นฐานอื่นๆ

ด้านนายแพทย์พรเพชร ปัญจปิยะกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงภาพรวมของโครงการว่าเป็นการพัฒนาในการให้บริการผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางด้านสังคมซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถภาพของบุคลากรโดยเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์และด้านอื่นๆ ทั้งในการใช้เครื่องมือ การวิเคราะห์รวบรวมข้อมูล รวมทั้งเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถต่อยอดในการสร้างข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านสาธารณสุขด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทั้งนี้ มองว่าในอนาคตโครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ ต่อผู้ป่วย ชุมชน สังคมในองค์รวม ซึ่งจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการเข้ารับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีการดำเนินการ ต่อเนื่องในอนาคตเกี่ยวกับการเชื่อมโยงกับระบบและหน่วยงานอื่นๆ

ขณะที่แพทย์หญิงสายรัตน์ นกน้อย ที่ปรึกษาโครงการฯ ระบุว่าจากการที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมโครงการ Social Telecare platform ถือว่าเป็นอีกโครงการที่จะสร้างช่องทางและกลไกในการเพิ่มศักยภาพการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์ได้ใช้เครื่องมือในการทำงานซึ่งจากการลงพื้นที่ทำงาน สิ่งสำคัญคือการสร้างเครือข่ายสร้างการเรียนรู้และสามารถให้ความช่วยเหลือผู้เปราะบางทางสังคมและความต้องการในการเข้าถึงความช่วยเหลือได้ตรงจุดซึ่งการดำเนินการของโครงการผ่านเขตสุขภาพต่างๆมีการประสานการทำงานระหว่างนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลและพื้นที่ในระดับปฐมภูมิที่อยู่นอกเหนือโรงพยาบาลซึ่งเป็นการเชื่อมข้อมูลทั้งในระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในอนาคตจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้มแข็ง ในระบบรากฐานของระบบสุขภาพ รวมทั้งต้องมีการประสานการทำงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างวิชาชีพต่างๆโดยเฉพาะ Telemedicine จะเป็นส่วนสำคัญ พร้อมกันนี้จะต้องสร้างการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ระหว่างวิชาชีพให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อยากเห็นคือการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม ซึ่งโครงการดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสุขภาพที่ดีและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่มีโอกาสในการเข้าถึงน้อยกว่ากลุ่มอื่น

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินโครงการว่า ถือเป็นการนำเครื่องมือสังเคราะห์ข้อมูลแบบใหม่มาใช้ผ่านเทคโนโลยี Social Telecare ทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน มีเวลาดูแลผู้ป่วยมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือการเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วย แต่ละระยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ยังทำให้นักสังคมสงเคราะห์ทำงานประสานกับสหวิชาชีพอื่นๆ เข้าดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างทันท่วงที ทำให้บรรเทาปัญหาผู้ป่วยทั้งด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและครอบครัว

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์ได้ทำงานเท่าทันกับระบบสุขภาพ Telemedicine ของระบบสาธารณสุข ซึ่งโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมโยงกับหลายกระทรวงเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง อีกหนึ่งหน่วยงานที่สำคัญคือหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัลซึ่งเป็นหน่วยงานระดับประเทศที่จัดการฐานข้อมูลซึ่งหากนำฐานข้อมูลที่มีอยู่มาบูรณาการร่วมกันก็จะลดปัญหาข้อมูลที่ซ้ำซ้อนและผิดพลาด และใช้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในอนาคตอยากเห็นระบบบริการด้านสุขภาพมีการเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลอื่นๆ ทั้งนี้ สสส.มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกทำให้เกิดประโยชน์โดยรวมกับโครงการนี้ และอยากเห็นการนำโครงการนี้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นนโยบายในเชิงพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมการดูแลด้านสุขภาพปฐมภูมิให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

นายวัชระ อมศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลงานการใช้ Platform Social Telecare และทิศทางการพัฒนา ว่าโครงการดังกล่าวมีที่มาจากกลไกการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ในการหาวิธีการในการช่วยเหลือผู้ป่วย การคัดกรองผู้ป่วยและประเมินผู้ป่วยว่าอยู่ในกลุ่มแบบไหนที่ต้องการการช่วยเหลือด้านสังคมซึ่งโครงการดังกล่าวทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลให้มีความชัดเจน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการใช้ในพื้นที่ 12 แซนด์บ็อกซ์ ทั่วประเทศซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ในการ ทำระบบบริการทางสังคมให้กับผู้ป่วยซึ่งในอนาคต คาดว่าจะมีการขยายการให้บริการของแพลตฟอร์มในพื้นที่อื่นเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศและจะดำเนินการเชื่อมต่อระบบบริการด้านสุขภาพอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทั้งทางแพทย์ บุคลากรกรทางการแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและความมั่นคงด้านสังคมให้กับประเทศไทย