องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดย สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ร่วมกันออกแบบและจัดกิจกรรมพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ creative Space เพื่อสนับสนุนการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ที่เตรียมเสนอขอยื่นใบสมัครในปี 2566 นี้

โดยใช้แนวคิด “น่าน บันดาลใจ” สร้างธีมและกิจกรรมให้สอดคล้องกับงานประเพณีวัฒนธรรมสำคัญของคนเมืองน่าน คืองานประเพณีหกเป็ง นมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีเถาะ และมีอายุกาลยาวนานถึง 670 ปี ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2566 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดย อพท. ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้ภูเพียงโมเดล – รักษ์ป่าน่าน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง โดยศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากนายบัณฑูร ล่ำซำ รองประธานมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เพื่อการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ เป็นศูนย์เชื่อมโยงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคีเครือข่าย

นางศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวว่า ทุกภาคส่วนและเครือข่ายภายในจังหวัดน่าน ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์พื้นที่นำเสนอผลงานด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์และเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความต่อเนื่องในการสร้างบรรยากาศของเมืองสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน

และพลังของเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่ได้ร่วมดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ร่วมคิด ร่วมลงมือทำ ทั้งการคิดออกแบบและสร้างธีมงานให้เป็น ธีมกระต่ายจากงานหัตถกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 670 ปี สมโภชพระมหาธาตุภูเพียงแช่แห้ง การใช้งานหัตถกรรมมาเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ทั้งงานโคมมะเต้า งานผ้าทอ งานจักสาน ถูกนำมายกระดับเพิ่มมูลค่าเกิดเป็นรายได้กระจายสู่ชุมชน พื้นที่สร้างสรรค์ ยังได้รวบรวมบุคลากรครูศิลปิน ครูช่างด้านศิลปะ โดยมีกิจกรรมนำเสนอผลงานและร่วม workshop ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะงานหัตถกรรม

โดยนำเสนองานหัตถกรรม สล่าศิลป์ ฝีมือช่างน่านกับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงความหลากหลายพหุวัฒนธรรม “Crafts and Fok Art in Culture” และกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ยังเป็นพื้นที่ได้แสดงศักยภาพและพัฒนาเครือข่ายเยาวชนกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ผ่านกิจกรรมการแสดง การเป็นพิธีกร การประสานงาน การบริหารจัดการกาดหมั้วคัวละอ่อน การจัดกิจกรรมเวิร์คชอปและร้านค้าชุมชนด้วย มีประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งพื้นที่สร้างสรรค์ จึงเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกอาชีพ ที่จะได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนา ยกระดับ และต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเกิดมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนท้องถิ่นต่อไป