รายงานข่าวจากกลุ่มบริษัทผู้ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ ระบุว่าผู้ให้เช่าตู้คือหนึ่งในผู้เสียหายจากขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน และพร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องการแก้ปัญหาตู้ของบริษัทที่ตกค้างหน้าท่า เพื่อให้สามารถนำออกมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติโดยเร็ว

กลุ่มบริษัทดังกล่าวตัดสินใจหลังจากมีข่าวการพบหมูเถื่อนจำนวนมหาศาลถึงกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัมในตู้ตกค้างจำนวน 161 ตู้ ณ ท่าเรือแหลมฉบังดังที่กรมศุลกากรแถลง เนื่องจากผู้ประกอบการให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน

ทั้งนี้ หนึ่งในบริษัทที่มีตู้ตกค้างในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า ได้รับงานจากบริษัทชิปปิ้งในนาม“บุคคล” ไม่ใช่นิติบุคคล แต่จนถึงขณะนี้ไม่สามารถติดต่อให้มาทำพิธีการตรวจปล่อยทางศุลกากรได้เป็นเวลา 7-8 เดือนแล้ว ทำให้บริษัทฯ จำต้องทิ้งตู้ไว้ที่ท่าเรือ โดยมีภาระค่าเช่าพื้นที่ในการวางตู้ รวมถึงค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นทั้งค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาส โดยสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 8 ตู้ที่ตกค้างนั้นเป็นชิ้นส่วนเนื้อสุกรหัวไหล่นำเข้าจากประเทศบราซิล และหากต้องทำลายสินค้าผิดกฏหมายเหล่านั้น บริษัทผู้ให้เช่าตู้ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลายด้วย

ภายใต้ข้อกำหนดของกรมศุลกากรกรณีสินค้าตกค้าง ระบุให้ตัวแทนออกของ(ชิปปิ้ง) มาทำพิธีการตรวจปล่อยภายใน 30 วัน กรณีเป็นสินค้าทั่วไป หากไม่มาดำเนินการสินค้านั้นจะตกเป็นของแผ่นดิน

สำหรับสินค้า “หมู” กรมศุลกากรจะขยายเวลาให้อีก 30 วัน (รวมเป็น 60 วัน) เพื่อให้นำใบคำขอนำเข้า (ร.6) และใบอนุญาตนำเข้า (ร.7) มาแสดงในการทำพิธีการตรวจปล่อย แต่หากเกินกำหนดนี้แล้ว สินค้าหมูดังกล่าวจะตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งกรมศุลกากรจะแจ้งและส่งมอบให้ กรมปศุสัตว์ นำไปฝังทำลายตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ต่อไป โดยจะเรียกเก็บค่าฝังทำลายจากบริษัทผู้ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์

การทิ้งตู้คอนเทนเนอร์ไว้นานเกินกว่าข้อกำหนดของกรมศุลกากร ทำให้บริษัทผู้ให้เช่าตู้ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสะสมมากมาย น่าจะเป็นเหตุผลที่บริษัทเหล่านี้ต้องเร่งแก้ปัญหา รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณว่าไม่ใช่ผู้สมรู้ร่วมคิดในขบวนการผิดกฎหมาย นับเป็นตัวอย่างให้บริษัทเจ้าของตู้เช่ารายอื่นๆ ทยอยกันออกมาให้ความร่วมมือ และจะทำให้การเข้าถึง “ผู้บงการหมูเถื่อน” เป็นจริงได้เร็วขึ้น