กรมการขนส่งทางบกและบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

 

วันนี้ (วันที่ 5 เมษายน 2566) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมมาตุลี ชั้น 3 อาคารศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนน กรมการขนส่งทางบก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยนายบวรสินธุ์ ตันธุวนิตย์ กรรมการบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ระหว่าง “กรมการขนส่งทางบก” กับ “บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด” ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด เป็นนิติบุคคลใหม่ที่ “บริษัท สินธนโชติ จำกัด” ผู้ผ่านการประเมินสูงสุดของโครงการ จัดตั้งขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เพื่อเข้าเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนกับกรมการขนส่งทางบกและเพื่อดำเนินงานโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เป็นการเฉพาะ

ในการร่วมลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ถือเป็นโครงการร่วมลงทุน (PPP) โครงการแรกที่กรมการขนส่งทางบกเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เป็นมืออาชีพ มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ซึ่งจะช่วยลดภาระทางด้านงบประมาณในการลงทุนและบุคลากรของภาครัฐ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางถนน โดยภายใต้สัญญาร่วมลงทุนฯบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด จะเข้ามารับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ อาทิ อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า อาคารคลังสินค้าและอาคารซ่อมบำรุง รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ อาทิ Gantry Crane และรถ Forklift มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 317 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินการได้ใน ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นี้ ภายหลังกรมการขนส่งทางบกปรับสภาพพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการก่อสร้าง นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance : O&M) ในส่วนอาคารและพื้นที่ใช้สอยในการรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางตามรอบระยะเวลา รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost และจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ เป็นเงินรวมกว่า 298 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกมีแผนเปิดให้บริการโครงการในช่วงต้นปี 2568 ภายหลังงานก่อสร้างทั้งในส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนรับผิดชอบแล้วเสร็จ โดยกรมการขนส่งทางบกจะได้มีการกำกับดูแลการดำเนินงานของภาคเอกชนให้เป็นตามระดับการให้บริการ (Level of Service) ที่กำหนดไว้ต่อไป

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม – จีนตอนใต้ ผ่านด่านพรมแดนนครพนม และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งจัดเป็นเส้นทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความสำคัญและมีมูลค่าการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนารถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในอนาคต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียง ผลักดันจังหวัดนครพนมให้เป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเมื่อรวมกับสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ภูมิภาคแห่งอื่น ๆ ที่กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 หรือสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการนำเสนอขออนุมัติโครงการ จะช่วยสร้างโครงข่ายการขนส่งสินค้าแบบ Hub-and-Spoke ลดปริมาณการขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มคันและรถเที่ยวเปล่า และยังสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่ง และในภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

นายบวรสินธุ์ ตันธุวนิตย์ กรรมการบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด กล่าวว่า บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด มีความยินดีและมีความพร้อมในการร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ในการดำเนินงานโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ซึ่งทางบริษัทฯ เล็งเห็นว่า เส้นทางการขนส่งสินค้าบนถนนสาย R12 ผ่านด่านพรมแดนนครพนม ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพสูง โดยบริษัทฯ จะได้นำประสบการณ์ในภาคธุรกิจการขนส่ง โดยเฉพาะการบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งได้มีการวางแผนและปรับกลยุทธ์การให้บริการต่าง ๆ ให้สอดรับสถานการณ์การขนส่งในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการและประเทศไทย ขณะเดียวกันโครงการนี้จะสามารถสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ได้ ด้วยการจ้างงานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง