ปราจีนบุรี-พืชผักผลไม้จากปราจีนบุรีปลอดภัยแน่นอน ปลัดกระทรวง อว.เผยผลตรวจ ผลิตผลการเกษตรทุกชนิดทั้งทุเรียน ผักบุ้ง หอมแดง เห็ด ผลโกโก้ ไม่พบการปนเปื้อนสารซีเซียม-137 หรือสารกัมมันตรังสีต่างๆ ใช้ 3 วิธีตรวจละเอียดยิบทั้งในตลาดสดและแปลงปลูก ไล่เรียงตั้งแต่การวัดรังสีโดยตรง ขุดผิวไปตรวจแบบสเมียร์เทสต์ และตรวจในห้องปฏิบัติการสินค้าส่งออกตามมาตรฐานสากลให้ความแม่นยำสูงสุด

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน หลังเกิดเหตุวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ก่อนจะไปพบอยู่ในโรงหลอมเหล็กบริษัท เค ที พี สตีล จำกัด อ.กบินทร์บุรี ปะปนอยู่ในฝุ่นแดงที่ได้จากการหลอมเหล็กบรรจุถุงบิ๊กแบ็ก 24 ใบ วางอยู่ในพื้นที่ปิดของโรงหลอม รวมทั้งบริเวณเตาหลอมและฝุ่นโลหะที่ติดอยู่ในระบบกรอง ขณะที่ผลการตรวจสภาพแวดล้อมพื้นที่โดยรอบโรงงานรวมทั้งตรวจร่างกายคนงาน 70 คนในโรงหลอมไม่พบการปนเปื้อนกัมมันตรังสี อย่างไร ก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรใน จ.ปราจีนบุรี พืชผักผลไม้ขายไม่ออกเนื่องจากผู้บริโภคหวั่นเกรงว่าจะมีการปนเปื้อน

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า กระทรวง อว. โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ตรวจผัก ผลไม้ และผลิตผลการเกษตร ที่ จ.ปราจีนบุรี ทั้งที่ตลาดสดและในแปลงปลูก โดยวิธีมาตรฐานสากลในห้องปฏิบัติการสินค้าส่งออก พบว่าทั้งหมดปลอดภัยไม่มีการปนเปื้อนของซีเซียม-137 และสารกัมมันตรังสีต่างๆ

ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบผัก ผลไม้ และผลิตผลการเกษตร เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภค โดยหน่วยงานต่างๆของกระทรวง อว.ได้ลงพื้นที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ในแต่ละวันมีเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ และดิน รวมทั้งใช้รถวัดระดับรังสีทั้งภายในโรงงาน พื้นที่วงรอบโรงงาน และแต่ละจุดในจังหวัด พบว่าระดับกัมมันตรังสีอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตรวจยืนยันผลเช่นเดียวกัน

“สทน.ร่วมกับ จ.ปราจีนบุรี และเกษตรกรในพื้นที่ ตรวจพืชผักผลไม้ ผลิตผลการเกษตรและอาหารกันอย่างต่อเนื่อง ใช้ 3 วิธีคือ การวัดรังสีโดยตรงโดยเครื่องมือวัดแบบพกพา การเช็ดหรือขูดที่ผิวของผักผลไม้เพื่อตรวจแบบสเมียร์เทสต์ และการตรวจละเอียดในห้องปฏิบัติการสินค้าส่งออกซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน มีความไว และแม่นยำสูงสุด ล่าสุด สทน.รายงานว่าพืชผักผลไม้จาก จ.ปราจีนบุรี ทั้งจากตลาดและจากสวน ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบซีเซียม-137” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในการตรวจผักผลไม้เบื้องต้นกว่าหลายร้อยตัวอย่างในตลาดและในสวน โดยการตรวจวัดรังสีโดยตรงและวิธีสเมียร์เทสต์ไม่พบการปนเปื้อน จึงได้ตรวจยืนยันผลเพิ่มเติมโดยนำเอาตัวอย่าง เช่น ทุเรียน ผักบุ้ง หอมแดง เห็ด ผลโกโก้ มาตรวจละเอียดในห้องปฏิบัติการ โดยเทคนิคแกมมาสเปคโตรเมตรี (gamma spectrometry) ใช้ผักผลไม้จำนวนมากนำมาวิเคราะห์ใช้การกระตุ้นธาตุต่างๆ ให้เข้าสู่สภาวะไม่เสถียร จะมีการปล่อยแสงมีความถี่เฉพาะของธาตุต่างๆ แล้วอ่านสัญญาณแปลเป็นธาตุต่างๆ ได้ เป็นเทคนิคที่มีความไวและความจำเพาะสูงมาก ใช้เวลาตรวจยืนยันและวิเคราะห์ประมาณ 2-3 วัน ขณะนี้ได้รายงานผลแล้วว่าพืชผักผลไม้ปลอดภัย ไม่พบซีเซียม-137 หรือสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด