“โพลหอการค้าไทย”เผยเลือกตั้งครั้งนี้เงินสะพัด 1-1.2 แสนล้าน ดันจีดีพีโต 0.5-0.7% ทั้งปีคงที่ 3-4% ภาคธุรกิจกังวลค่าไฟ-น้ำมัน-ค่าแรงดันต้นทุนพุ่ง
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจ กระทบของภาคธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจของไทย 600 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งภาคเกษตร,ภาคอุตสาหกรรม,ภาคบริการ และภาคการค้า พบว่าสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อที่มีผลกระทบกับธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ถึง 92.5% ได้รับผลกระทบในด้านลบจากอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย ต้นทุน และกำไร โดยวิธีการรับมือคือ ปรับลดการซื้อวัตถุดิบ, ลดกำลังการผลิต และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งในมุมมองของผู้ประกอบการ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 2.3%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำโพลนี้ขึ้น เพื่อต้องการจะดูว่าก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือนส.ค.66 นั้น ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอหรือไม่
โดยผู้ประกอบการมองว่าปัจจุบันยอดขายยังไม่กระเตื้องมาก เพราะโดนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้นจากการท่องเที่ยว และมีการค้าขายได้มากขึ้นจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกที่ซึมๆ และการส่งออกที่ยังไม่เด่น มันดึงกำลังซื้อออกไปจากระบบ รวมถึงความกังวลเรื่องค่าไฟแพง เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโลกถดถอย และปัญหาแบงก์ล้มในต่างประเทศ จึงทำให้คนยังระมัดระวังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ก็ตาม อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ มองว่าตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 เป็นต้นไปสถานการณ์จะค่อยเริ่มดีขึ้น และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนได้ในไตรมาสที่ 4
สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น แต่อยู่ภายใต้กติกา มีการรณรงค์หาเสียง ต่อสู้กันในเชิงการเมืองที่ค่อนข้างดุดัน เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านประสงค์จะเป็นพรรครัฐบาล ภายใต้นโยบายแลนด์สไลด์ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องการจะมีที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯให้มากที่สุดเช่นกัน ส่งผลให้มีเม็ดเงิน มีการใช้จ่ายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สะพัดมากในช่วง 1 เดือนครึ่ง ก่อนการเลือกตั้งในทุกเขตการเลือกตั้ง รวมแล้วอย่างน้อย 1-1.2 แสนล้านบาท กระตุ้น GDP ปีนี้ได้ราว 0.5-0.7% จากเดิมที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดราว 5-6 หมื่นล้านบาท
ส่วนหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นตัวสำคัญในการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีตามที่หลายฝ่ายต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี จัดตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีนโยบายเศรษฐกิจเป็นที่ถูกใจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดในไตรมาส 4 เป็นต้นไป และทั้งปี ภาคเอกชนยังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.35-3.82% ซึ่งอยู่ในกรอบเดียวกับที่ ม.หอการค้าไทยประเมินไว้ที่ 3-4% ในปีนี้ โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเข้ามาช่วยให้เงินสะพัดในช่วงไตรมาส 2 และ 3
“เมื่อมีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีในเดือนส.ค. การแต่งตั้ง ครม. แถลงนโยบายต่อสภา น่าจะเกิดขึ้นราวปลายไตรมาส 3 การนำงบประมาณไปพิจารณา จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มชัดเจน จึงทำให้ภาคธุรกิจเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นในไตรมาส 4”