เพจ พักก้อน โดย หมอลูกหมู วัย 28 ปี โพสต์เล่าเรื่องราวของเธอ หลังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในวัย 27 ปี โดยที่ก่อนหน้านี้ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน ความว่า วันนี้อยากมาเล่าเรื่องในมุมของหมอที่จับพลัดจับผลูเป็นคนไข้แบบงงๆให้ได้อ่านกันค่า

เดิมทีแล้วสำหรับเรามะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ Lymphoma ก็เป็นแค่บทนึงในตำราเรียนที่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นคำวินิจฉัยนึงของคนไข้ที่อยู่ในความดูแล (ซึ่งแผนการรักษาก็มาจากHematologistหรืออายุรแพทย์โรคเลือดซะส่วนใหญ่)

การเขียนออเดอร์ neutropenic diet, งดผลไม้เปลือกบางก็เป็นแค่ความเคยชินที่ทำให้สำหรับผู้ป่วยที่มารับเคมีบำบัด จนวันนึงคุณมะเร็งก็เข้ามาอยู่ในชีวิตเรา อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน หายใจไปพร้อมกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าในฐานะหมอ พอเราป่วยซะเองจะมีความคิดความรู้สึกต่างจากคนไข้ทั่วไปยังไงกันนะ?

สำหรับตัวเราเอง ไม่ต่างเลยค่ะ 555 ออกจะกังวลมากกว่าคนไข้ทั่วไปด้วยซ้ำ

ตลอดเวลา 6 เดือนที่ป่วยและรับยาเคมีบำบัดเต็มไปด้วยความกังวล เพราะเราเห็นมาตลอดว่าถ้าคนไข้มะเร็งได้ยาเคมีบำบัดแล้วมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้นเวลาจะกินอะไร หรือจะทำกิจกรรมอะไร เรามักจะคิดภาพตัวเองนอนซมให้ยาฆ่าเชื้อในICUอยู่บ่อยๆ

ตอนยังทำงานอยู่เราก็ไม่ต่างกับหมอหลายคนที่อยู่เวรห้องฉุกเฉิน แล้วเจอคนไข้ที่มาด้วยภาวะที่ไม่ได้ฉุกเฉินจริง

ในช่วง 6 เดือนนั้น คนไข้ที่มีคำนำหน้าว่าแพทย์หญิงคนนี้ได้เข้าห้องฉุกเฉิน 2 ครั้ง และไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งสองครั้ง

ครั้งแรกที่บ้านพาไปส่งเพราะเพลียมาก หน้ามืด วัดความดันได้ 60/30 (พอไปวัดที่ER ปกติซะเฉยๆ) ส่วนอีกครั้งคือท้องเสีย ปวดท้อง pain score 10/10 พอไปตรวจจริงก็ปกติดี เป็นแค่อาการลำไส้แปรปรวน และทั้งสองครั้งที่ไปห้องฉุกเฉินนั้นไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากกลัวตายเท่านั้นแหละ
การเป็นคนไข้ซะเองทำให้เราเข้าใจคนไข้มากขึ้น

– เข้าใจคนไข้ที่มาห้องฉุกเฉินตอนตีสาม เพราะท้องเสีย ปวดท้อง แค่โรคลำไส้อักเสบธรรมดาที่ไม่ฆ่าใคร แต่มันสามารถปวด pain score 10/10 ได้จริงๆ ไม่มีใครอยากเข้าห้องฉุกเฉินหรอกถ้าไม่กลัวตาย (ยกเว้นมาขอยาเดิมหรือขอใบรับรองแพทย์ตอนดึกๆ อันนั้นก็ยังไม่เข้าใจเหมือนเดิม)

– เข้าใจว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งและต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างขนาดไหน การต่อสู้กับผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด การต้องระวังตัวเองตลอดเวลาไม่ให้ป่วย แต่ละวันมันไม่เคยง่ายเลย

– เข้าใจว่าทุกคำสั่งการรักษาที่เขียนไปมันส่งผลกระทบกับชีวิตคนไข้จริงๆ หลายๆอย่างมันง่ายกับคนเขียน แต่ลำบากคนทำ เคยไม่เข้าใจว่าทำไมคนไข้เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ถึงไม่ยอมฉีดยาอินซูลิน จนถึงวันที่ตัวเองโดนฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว(เข้าใต้ผิวหนังคล้ายอินซูลิน) ยังรู้สึกว่ามันเจ็บ และมันลำบากจริงๆแหละ

แม้ว่าตอนนี้โรคจะสงบ กลับมาทำงานเป็นหมอเหมือนเดิมแล้ว สถานะคนไข้ก็ยังต้องติดตัวไปอีกหลายปี เพราะยังต้องเข้ารับการตรวจติดตามเป็นระยะ (แน่นอนว่าก็ยังกังวลเหมือนเดิมทุกครั้งแหละ555)

เราผ่านอะไรมาเยอะมากจริงๆค่ะ ทั้งประสบการณ์ที่ผมค่อยๆร่วงเป็นกระจุกจนหมดหัว ปวดกระดูกจนนอนร้องไห้ กินอาหารแล้วไม่รู้รสชาติจนยอมแพ้ที่จะกิน อ่อนเพลียมากจนเดินได้วันนึงไม่กี่ก้าว พอมาคิดจริงๆก็ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่เคยต้องผ่านเรื่องแบบนี้มา

เรารู้สึกว่าตัวเองในฐานะหมอก็มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เราเรียนรู้ที่จะมองคนไข้เป็นมากกว่างานที่ต้องทำให้เสร็จ มีหลายครั้งที่เราเลือกจะนั่งลงข้างเตียงคนไข้ที่เพิ่งรู้ว่าเป็นมะเร็งเพื่อพูดว่า “กินข้าวเยอะๆนะคะ หมอรู้ว่ากินไม่อร่อยหรอก แต่ถ้าร่างกายเราแข็งแรง ผลการรักษาก็จะดีขึ้นนะ”
วันนี้มาเล่าซะยาวเลย มีใครอ่านจนจบบ้างมั้ยน้า😅

ไว้ครั้งหน้าจะมาเล่าประสบการณ์การรับมือกับการสูญเสียผม หรือการใช้ชีวิตกับpicc line(เส้นให้ยาเคมีบำบัด)โดยไม่ติดเชื้อให้ฟังกันนะคะ

ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง ไว้พบกันใหม่ค่ะ