เจแปนทูเดย์ รายงานว่า ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ปรับขึ้นค่าจ้างโดยเทียบได้กับการปรับขึ้นราคาประมาณ 2% ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารกลางกำหนดเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อ เพื่อให้เศรษฐกิจพ้นภาวะเงินฝืดได้
รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวในรายงานประจำปีเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินสาธารณะของญี่ปุ่นว่า “ทฤษฎีสองสูง” จะช่วยไม่ให้ประเทศตกอยู่ในภาวะซบเซา ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่นๆ กำลังประสบปัญหาของแพงจากสงครามรัสเซียกับยูเครน
ขณะเดียวกันรายงานนี้เป็นเอกสารฉบับแรกที่รวบรวมภายใต้นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะทำให้เกิด “ทุนนิยมใหม่” ซึ่งมีลักษณะเป็นวัฏจักรอันดีงามของการเติบโตและการกระจายที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุนในประชาชน
เอกสารดังกล่าวเน้นย้ำว่า “มีความจำเป็นในการเปลี่ยนอัตราการเติบโตของค่าจ้างที่สอดคล้องกันกับการขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์”
“ญี่ปุ่นจึงไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เรียกว่าซบเซา” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเติบโตที่ช้าและอัตราเงินเฟ้อสูงผสมกับการว่างงานสูง
“เพื่อให้ (ประเทศ) หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเพิ่มค่าแรงเล็กน้อยตามราคาที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน” รายงานระบุ
แต่ตั้งแต่ปี 1997 “อัตราค่าจ้างได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอเมื่อพิจารณาจากอัตราการขึ้นราคา” โดยอ้างถึงความระมัดระวังของภาคธุรกิจในการขยายการดำเนินงานโดยการลงทุนครั้งใหญ่ท่ามกลางภาวะเงินฝืดที่เรื้อรัง
บริษัทยังถือว่าค่าจ้างเป็นต้นทุน ไม่ใช่การลงทุนในพนักงาน ส่งผลให้มีการกระจายผลกำไรไม่เพียงพอ