
สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ประกาศจัดตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดในการขับเคลื่อนนโยบายหลัก 5 ข้อ และนโยบายเร่งด่วน 9 ข้อ ในการบริหารอาชีวศึกษาจังหวัดในพื้นที่ 77 จังหวัด
วันนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมหารือถึงการประกาศจัดตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดในการขับเคลื่อนนโยบายหลัก 5 ข้อ และนโยบายเร่งด่วน 9 ข้อ ในการบริหารอาชีวศึกษาจังหวัดในพื้นที่ 77 จังหวัด ให้สามารถตอบสนองนโยบายสำคัญของประเทศ
โดยมีว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) และนายเศรษฐศิษฎ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึง การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง นโยบายสถานศึกษาปลอดภัย สถานศึกษาแห่งความสุข และความร่วมมือกับสถานประกอบการในการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในวันนี้ถือว่าครบรอบ 4 เดือน ที่ได้นำนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงสู่การปฏิบัติ ให้ประชาชนมีความพึงพอใจสูงในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือฝ่ายความมั่นคง รวมไปถึงฝ่ายยุติธรรม, กระทรวงสาธารณสุข และกรมสุขภาพจิต เพื่อดูแลในเรื่องของความเครียดต่างๆ เพื่อให้เด็กอาชีวะสามารถดำรงอยู่ได้กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังกล่าวถึงการดูแลนักเรียนอาชีวะทั้งระบบในเรื่องความปลอดภัยทางด้านร่างกายจิตใจ ปัญหาทะเลาะวิวาทกันต่างๆ และตั้งแต่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาฯ พบว่าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้จะเห็นได้ว่าปัญหานักศึกษาทะเลาะวิวาทกันมีแนวโน้มลดลงเป็นที่น่าพอใจ สร้างความเชื่อใจให้กับผู้ปกครองที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนอาชีวะ และมั่นใจว่าลูกหลานจะมีความปลอดภัย ด้านนายทวีศักดิ์ คิ้วทอง นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) ในฐานะผอ.วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี กล่าวถึงวัตถุประสงค์เดียวกันของการบริหารอาชีวะ คือการให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ด้วยการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่สายอาชีวะ ตนเองจะรับฟังเสียงสะท้อน จากผู้บริหารอีกครั้งหนึ่งหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการกลุ่มอาชีวศึกษา โดยนำปัญหาต่างๆ หรือสะท้อนแนวความคิดต่างๆ มาหารือร่วมกัน เพื่อพัฒนาขับเคลื่อนต่อไป
ขณะที่ นายเศรษฐศิษฎ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) กล่าวถึงการเป็นองค์กรภาคประชาชน เมื่อเราได้อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียน เราก็จะรับทราบปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดี เมื่อเลขาฯเข้ามารับตำแหน่งใหม่ และเปิดโอกาสรับฟังเสียงสะท้อนจากพวกเรา ซึ่งจริงๆแล้วประชาชนที่อยู่ภายนอกอาจจะไม่สามารถส่งสารต่างๆได้อย่างง่าย ตนจึงขอเป็นตัวแทนภาคประชาชนผู้ปกครองและในสถานประกอบการ บางครั้งตนได้เดินทางไปรับรู้ปัญหาต่างๆ และนำกลับมาเสนอต่อเลขาฯ ซึ่งรับฟังทุกภาคส่วน ตนได้นำเสนอในเรื่องของความเท่าเทียมการศึกษา โดยทำอย่างไรให้การศึกษาอาชีวศึกษามีการกระจายไปทุกจังหวัด รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือ การเรียนการสอน และบุคลากรครูที่สอนมีคุณภาพกระจายไปยังท้องถิ่นทั้ง 77 จังหวัด หากสามารถทำได้กลุ่มเด็กเหล่านี้ก็จะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา