CMG สื่อใหญ่จีน เผย บทสัมภาษณ์พิเศษ ‘อนุทิน’ รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุขไทย กำลังได้รับความนิยมมากมายในโซเชียลแผ่นดินใหญ่ มีคนเข้าชมแล้วกว่า 100 ล้านครั้ง และยังถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆมาก กว่า 20 ภาษา
China Media Group (CMG) หรือไชน่า มีเดีย กรุ๊ป สื่อหลักของจีน รายงานว่า หลังเผยแพร่บทรสัมภาษณ์พิเศษของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ของจีน และได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง โดย รองนายกฯ อนุทิน กล่าวถึงการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยชุดแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 หลังจีนใช้มาตรการเข้มงวดโควิด-19 กว่า 3 ปี ก่อให้เกิดการรับชมข่าวที่เกี่ยวข้องมากกว่า 490 ล้านครั้ง
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ CMG เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดเผยเหตุผลถึงการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนอย่างอบอุ่น โดยเฉพาะบางช่วงบางตอนระบุว่า “ผมมีเชื้อสายจีน โดยคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย ล้วนมาจากประเทศจีน และตนเองก็ยังมีชื่อจีน ที่บ้านก็ยังพูดภาษาจีน ทำให้รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้พบปะคนจีน รู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง และคนจีนเองก็สนับสนุนไทยในหลายๆ ด้าน” ทำให้ประเด็นคำค้นหาและแฮชแท็ก #泰国副总理说身上也流淌着中华血液# ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “รองนายกฯไทยมีสายเลือดจีน” เป็นหนึ่งในคำค้นหายอดนิยมบน Weibo มียอดดูรวมกว่า 70 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของนายอนุทิน ที่กลายเป็นกระแสบน Weibo สังคมออนไลน์จีน รวมทั้งประเด็น “泰国副总理上热搜说起鸡皮疙瘩了” (รองนายกของไทยรู้สึกขนลุก เมื่อรับทราบว่ากลายเป็นกระแสบนสังคมจีน) โดยมียอดรับชมรวมทุกคำค้นหาที่เกี่ยวข้องที่กลายเป็นกระแส รวมกว่า 100 ล้านครั้ง
ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจบน Weibo เท่านั้น บนสื่อออนไลน์แพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ทาง CMG ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์พิเศษที่เกิดขึ้น เช่น แพลตฟอร์มโต่วอิน (Douyin – TikTok จีน) แพลตฟอร์ม Kuaishou อีกหนึ่งแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมในจีน และ Bilibili (B site) แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ฮิตในกลุ่มจีนรุ่นใหม่ ยังมียอดผู้ชมในแต่ละแพลตฟอร์มสูงกว่า 5 ล้านคน
นอกจากนี้เนื้อหาการให้สัมภาษณ์พิเศษของนายอนุทิน โดย CMG ยังถูกนำเสนอในภาษาอื่นๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อาหรับ, ญี่ปุ่น, มองโกเลีย, เบงกาลี, สิงหล, อูรดู, เวียดนาม, ลาว, อินโดนีเซีย, พม่า, แอลเบเนีย, บัลแกเรีย, เยอรมนี, โปรตุเกส, ยูเครน, เช็ก, โปแลนด์, ภาษาอิตาลี โดยได้รับการเผยแพร่บน YouTube, Facebook, Twitter รวมทั้งถูกเผยแพร่ในบัญชีที่เกี่ยวข้องของโซเชียลมีเดียในแต่ละประเทศ เช่น vkontakte (เว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย)