วันที่ 18 มกราคม 2566 นายศุภเดช แสนภูมินิเทศ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และ เรืออากาศตรี บุญเกิด มีทวี ผู้จัดการบริษัท เอ็ม.ที.ฟรุท โปรดักส์ หมู่ 3 ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ลงพื้นที่ไปยังสวนส้มโอท่าข่อย เพื่อดูสถานการณ์การผลิตของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกผู้ปลูกส้มโอท่าข่อยของสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร ที่รวมกลุ่มกันอนุรักษ์ส้มโอท่าข่อย ซึ่งเป็นส้มโอพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่ในคำขวัญ ว่า “รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน” โดยพบว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ คือ เทศกาลตรุษจีน วันจ่าย หรือ วันตือเส็ก จะตรงกับวันที่ 20 ม.ค. 66 , วันไหว้จะตรงกับวันที่ 21 ม.ค. 66 ปรากฎว่าส้มโอท่าข่อยในพื้นที่จังหวัดพิจิตรถูกกว้านซื้อเพื่อนำไปขายเป็นผลไม้ไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ ทำให้ช่วงนี้เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตรรวบรวมเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอท่าข่อย ซึ่งเป็นส้มโอพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่ในคำขวัญ ว่า “รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน” ในช่วงเทศกาลตรุษจีนขายดิบขายดีเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อไปไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ จากในอดีตชาวสวนโค่นต้นส้มโอท่าข่อยทิ้ง เหตุเพราะราคาตกต่ำ ขายได้ กก.ละ 5-6 บาทเท่านั้น ถึงวันนี้มีการพัฒนาคุณภาพถึงขั้นเป็นสินค้าส่งออกราคาพุ่งกระฉูดขายได้ถึง กก.ละ 20 บาทโดย เรืออากาศตรี บุญเกิด มีทวี ผู้จัดการบริษัท เอ็ม.ที.ฟรุท โปรดักส์ กล่าวว่า ส้มโอท่าข่อยทีพ่อค้าคนกลางซื้อไปขายเพื่อใช้เป็นผลไม้ไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษส่วนใหญ่จะเป็นส้มที่เน้นผิวสวย จึงแก่ไม่จัดคุณภาพและรสชาติความหวานจึงยังไม่อร่อยอย่างเต็มที่ แต่เมื่อขายได้เกษตรกรก็ยอมขายเพราะได้ราคา แต่ในส่วนของล้งรับซื้อส้มโอท่าข่อยเพื่อการส่งออกจะเปิดรับซื้ออย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ม.ค. 66 ถึงเดือน มิ.ย.66 โดยมีเป้าหมายรับซื้อส้มโอท่าข่อยที่ต้องมาจากกลุ่มเกษตรกรจากสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร เท่านั้น เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวนี้ได้มาตรฐานการปลูกและการเก็บผลผลิตที่ได้คุณภาพเพื่อการส่งออกจึงให้ราคารับซื้อสูงถึง กก.ละ 20 บาท เป้าหมายปีนี้รับซื้อ 30 ตู้คอนเทรนเนอร์ โดย 1 ตู้ มีปริมาณ 17,000 ก.ก. หรือ รวม 510,000 กก. คิดเป็นเม็ดเงินที่จะตกถึงมือเกษตรกรประมาณ 510,000 กก. x 20 บาท = 10,200,000 บาท และให้คำแนะนำว่าเกษตรกรควรรวมกลุ่มและช่วยกันตัดส้มโอท่าข่อยเพื่อให้ได้คุณภาพ และลดรายจ่ายในการจ้างหรือให้พ่อค้าคนกลางมาตัดเอง ซึ่งเค้าก็คิดค่าตัดส้มโอท่าข่อยในราคาค่าแรง กก.ละ 3-5 บาท แถมยังตัดแบบสุกเอาเผากิน ซึ่งบ่อยครั้งก็ตัดส้มอ่อนไปขาย
ทำให้ไม่ได้ส้มโอท่าข่อยที่แก่จัดจึงทำให้ได้ส้มโอท่าข่อยรสขมและเสียชื่อเสียงอีกด้วยในส่วนของ นายศุภเดช แสนภูมินิเทศ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า สภาเกษตรกรพิจิตร ทำหน้าที่รวมกลุ่มให้กับเกษตรกรและให้องค์ความรู้ด้านวิชาการ-ด้านการตลาด ทั้งนี้ก็เพื่ออนุรักษ์ส้มโอท่าข่อยผลไม้พันธุ์พื้นเมืองของพิจิตรให้ยังคงอยู่รวมถึงพัฒนาคุณภาพจนถึงวันนี้ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จแล้วมากพอสมควรและจะเดินหน้าพัฒนารวมกลุ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอท่าข่อยต่อไปน.ส.กาญจนา คล้ายผูก อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29 หมู่ 9 ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอท่าข่อยบนพื้นที่ 9 ไร่ กล่าวว่า จุดเด่นของส้มโอท่าข่อย คือสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีบนภูมิประเทศของจังหวัดพิจิตรเมื่อออกลูกออกผลแก่แล้วสามารถปล่อยให้อยู่คาต้นได้นานถึง 11 เดือน โดยไม่ต้องรีบตัด ซึ่งสามารถทำให้เลือกเวลาตัดส้มโอท่าข่อยในช่วงที่ได้ราคาตามต้องการ ส้มโอท่าข่อยจะอร่อยรสชาติหวานอมเปรี้ยวก็ต่อเมื่อผ่านฤดูหนาวไปแล้วจะกินอร่อยมาก ในส่วนของผู้บริโภคหรือพ่อค้าคนกลางที่ซื้อส้มโอท่าข่อยไปสามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิปกติ เก็บได้นานนับเดือนเอาออกมาปลอกเปลือกผ่ากิน ยิ่งเก็บไว้ไว้นานยิ่งอร่อย จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันนี้ อีกด้วย

สิทธิพจน์ พิจิตร