อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยคดีขับรถขณะเมาสุราที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ เฉพาะวันที่ 1 มกราคม 2566 มี 2,666 คดี รวมยอด 4 วัน 4,508 คดี เพื่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีการดำเนินคดีแค่ 52 คดี โดยมี จ.นนทบุรี ครองแชมป์ถูกจับเมาขับมากสุด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 มกราคม 2566 นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า สถิติคดีขับรถขณะเมาสุราที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ต้อนรับวันปีใหม่ 1 มกราคม 2566 มีจำนวน 2,666 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 2,613 คดี คิดเป็นร้อยละ 98.01 คดีขับเสพ 53 คดี คิดเป็นร้อยละ 1.99 ซึ่งสถิติยอดรวมสะสม 4 วัน ที่มีการควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 – 1 มกราคม 2566 มีจำนวน 4,508 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 4,300 คดี คดีขับรถประมาท 11 คดี และคดีขับเสพ 197 คดี
จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุรายอดสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ร้อยเอ็ด 255 คดี นนทบุรี 252 และ เลย 245 คดี ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติในวันที่สี่ของช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 52 คดี และ ปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 2,613 คดี เพิ่มขึ้น 2,561 คดี
สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ยังคงสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ จุดบริการประชาชนและด่านชุมชน จำนวน 85 จุด โดยร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย และผู้ถูกคุมความประพฤติ จำนวน 852 คน แจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น แผ่นพับประชาสัมพันธ์ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องมีการเน้นย้ำมาตรการคุมเข้มสำหรับผู้กระทำผิดที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ การเข้าร่วมกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร การลด ละ เลิกแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ การคุมประพฤติยังมีการจำแนกความเสี่ยง หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะส่งบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหากพบว่ามีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำสูงจะถูกส่งไปแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระยะเวลา 3 วัน โดยใช้กระบวนการกลุ่มร่วมกับการทำงานบริการสังคม เช่น เข้าศึกษาการปฏิบัติงานในห้องดับจิต การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่ตึกอุบัติเหตุ เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รู้ซึ้งถึงการทุกข์ทรมาน การสูญเสียสมรรถภาพจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ให้มีความปลอดภัยทางถนนมากขึ้น