ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 พิพากษาจำคุกอดีตนายกอบต.ต้นมะพร้าว จ.เพชรบุรี ที่จัดหานอมินีเพื่อรับงานก่อสร้างในท้องถิ่นที่ตนเองมีอำนาจ ทุจริตโครงการขุดลอกคูคลอง หลักฐานชี้ชัดทั้งเครื่องจักรและเส้นทางการเงินมัดตัวเองดิ้นไม่หลุดพร้อมตัดสิทธิทางการเมือง เป็นคดีตัวอย่างให้นักธุรกิจการเมือง

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2565 นายหิรัญเศรษฐ์ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภาค 7 เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ชี้มูลความผิดนายวงศกร บัวไสว ในขณะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และความผิดทางอาญา และได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดนำสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7

กล่าวหานายวงศกร บัวไสว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และนายอำนาจ ชมเสือ จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิด เป็นผู้สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน กรณีทุจริตโครงการของ อบต.ต้นมะพร้าว จ.เพชรบุรี ทั้งหมด 6 โครงการ ดังนี้
1. โครงการขุดลอกคูคลองน้ำทิ้งสายนางช้วน หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 2 ต.ต้นมะพร้าว เป็นเงิน 28,890 บาท
2. โครงการขุดพร้อมฝังท่อระบายน้ำ บริเวณทางเข้าบ้านหนองแก หมู่ที่ 1 ต.ต้นมะพร้าว เป็นเงิน 32,130 บาท
3. โครงการขุดลอกคูคลอง หมู่ที่ 1 สายบ้านนาโพธิ์นอก สายบ้านนาหนองแก และสายนานายเทือง เป็นเงิน 93,448 บาท
4. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในตำบลต้นมะพร้าว เป็นเงิน 92,700 บาท
5. โครงการขุดลอกคูคลองภายในตำบลต้นมะพร้าว 5 สาย เป็นเงิน 66,500 บาท
6. โครงการขุดลอกขยะวัชพืชและดินตะกอนคลองน้ำทิ้งหนองไก่ดำ เป็นเงิน 95,000 บาท

โดยพฤติกรรมในการกระทำความผิด คือ จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ที่มีศักดิ์เป็นหลานและเป็นตัวแทนเชิด (นอมินี) ของจำเลยที่ 1 ได้ลงนามในเอกสารใบเสนอราคาที่เจ้าหน้าที่พัสดุได้เตรียมไว้ให้ตามที่จำเลยที่ 1 ได้สั่งการ โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นเสนอราคา เมื่อเจ้าหน้าที่พัสดุได้ทำการต่อรองราคา และเสนอรายงานขออนุมัติตกลงราคาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ จำเลยที่ 2 ได้นำรถแทรกเตอร์ แบ็กโฮสีเหลือง ยี่ห้อ KOMATSU รุ่น PC 128 US-2 ที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับนางสาวจิราภรณ์ เกตุบรรจง ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไปใช้ในการขุดคลองงานตามสัญญาจ้าง

เมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานจ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 เป็นเช็คและนำไปฝากเข้าบัญชี ชื่อบัญชีนายอำนาจ ชมเสือ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ถอนเงินจากบัญชีธนาคารดังกล่าวโดยใช้บัตร ATM เพื่อให้จำเลยที่ 1 ซี่งเป็นผู้รับจ้างที่แท้จริงได้รับค่าจ้างเป็นประโยชน์สำหรับตนเองโดยทุจริต

ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ได้พิจารณาคดีและมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 โดยพิพากษา จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม), 157 (เดิม) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยทั้งสองกระทำผิดรวม 6 กระทง จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงความผิดแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 54 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 36 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว การทุจริตเป็นภัยร้ายแรงต่อบ้านเมือง บั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อทางราชการ ทั้งยังทำให้เกิดช่องว่างในการฉกฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่น รัฐจึงจำต้องใช้มาตรการปราบปรามโดยเด็ดขาดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง จำเลยทั้งสองหาผลประโยชน์จากโครงการของหน่วยงานท้องถิ่นที่ควรเป็นต้นแบบที่ดีให้กับประชาชน แต่กลับใช้โอกาสที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายไปเป็นของตนหรือให้ผู้อื่นโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำที่ร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ.