กรมการขนส่งทางราง ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) และแผนการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน

22 กรกฎาคม 2565 กรมการขนส่งทางราง ชี้แจงว่า ตามที่ได้มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ระหว่างวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม 2565 ซึ่งได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน กระทรวงคมนาคม ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1.ความก้าวหน้าของโครงการ
ด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายในประเด็นความล่าช้าในการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังดำเนินการก่อสร้างในประเทศไทยนั้น กระทรวงคมนาคมขอชี้แจงว่า รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางซึ่งเป็นการขนส่งแห่งอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันการขนส่งทางรถไฟเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า สามารถลดต้นทุนทั้งด้านเวลา และค่าใช้จ่ายด้านโลจิติกส์ รวมถึงเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่จะช่วยสร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน ที่จะนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งนับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันนี้ ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อปี 2562 สามารถเร่งรัด ผลักดัน การลงนามและก่อสร้างได้กว่า 10 สัญญา ซึ่งทุกสัญญามีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง โดยสามารถประหยัดงบประมาณได้ 15,589 ล้านบาท และมีความก้าวหน้าความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ ดังนี้
1.1 ความก้าวหน้าโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมามีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาออกเป็น ทั้งหมด 14 สัญญา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีความก้าวหน้าแต่ละสัญญา ดังนี้
1) ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก
2) อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา ได้แก่
สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก
สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง
สัญญา 3-3 บันไดม้า-ลำตะคอง
สัญญา 3-4 ลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โครกกรวด
สัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา
สัญญา 4-2 ดอนเมือง-นวนคร
สัญญา 4-3 นวนคร-บ้านโพ
สัญญา 4-6 พระแก้ว-สระบุรี
สัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย
3) เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย
4) อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า สัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง
สัญญา 4-5 บ้านโพ-พระแก้ว

 


รวมถึงได้ผลักดันการจัดทำ พระราชกฤษฎีกาเวนคืน เพื่อแก้ปัญหาในการดำเนินโครงการ และสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนของกระทรวงคมนาคม โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พระราชกฤษฎีกาเวนคืนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565
1.2 ความก้าวหน้าโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคายเป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 รวมระยะทางโดยประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี 2571
2. ความแตกต่างระหว่างรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน และโครงการรถไฟลาว – จีน
โดยเมื่อเปรียบเทียบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน และโครงการรถไฟลาว – จีน จะพบว่ารถไฟลาว – จีน เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างฝ่ายลาวกับจีน โดยฝ่ายลาวลงทุนร้อยละ 30 ฝ่ายจีนลงทุนร้อยละ 70 โดยเป็นการออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design Build) ใช้รางขนาด 1.435 เมตร เป็นทางเดี่ยวโดยใช้รถไฟ EMU รุ่น CR 200 ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่รถไฟไทย – จีน เป็นรถไฟความเร็วสูงที่มีการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่แตกต่างจากรถไฟลาว – จีน โดยก่อสร้างเป็นทางคู่ตลอดเส้นทาง โดยใช้รถรุ่น CR300 สามารถรองรับความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด 179,412.21 ล้านบาท ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งจากการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเองทั้งหมด จะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ เช่น สามารถกำหนดรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงข่ายหลักในการขนส่งผู้โดยสาร ส่วนรถไฟ 1 เมตร เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 รวมถึงฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด มีอิสระในการกำหนดแผนในการเดินรถ (Operation) โดยไม่เสียสิทธิ์การใช้พื้นที่ข้างทาง และสามารถกำหนดให้พนักงานขับรถไฟ และพนักงานในศูนย์ซ่อมบำรุงทั้งหมดเป็นชาวไทยได้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการเดินรถ ซึ่งถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประเทศ ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการถไฟไทย-จีน เป็นไปตามขั้นตอนและกฎหมายตั้งแต่ ขั้นตอนเสนอโครงการ, เสนอ EIA, ครม. อนุมัติโครงการ, เวนคืน และก่อสร้างที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 15 ฉบับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโดยใช้ระเบียบกฏหมายของประเทศไทยถือเป็นส่วนสำคัญที่สามารถกำหนดให้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศมากกว่าร้อยละ 95 และได้สิทธิ์ในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้น เมื่อเทียบกับการให้สัมปทานประเทศจีนรับเหมาก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จที่อาจจะก่อสร้างได้เร็วกว่า แต่รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านระบบรางในระยะยาวที่ยั่งยืนมากกว่า
3. แผนการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน
ในส่วนของการเชื่อมต่อลาวและจีน ได้จัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการฯ เป็นทีมประเทศไทย (Team Thailand) ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยมีรองนายกฯ อนุทิน เป็นประธานกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในองค์ประกอบ เพื่อหารือการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย โดยคณะกรรมการบูรณาการ ได้จัดทำแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน มีรายละเอียด ดังนี้
3.1 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2569
3.2 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าเสนอคณะรัฐมนตรีในปี 2565 และจะเปิดให้บริการในปี 2571
3.3 โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในปี 2565 คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2569
รวมถึงการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ การพัฒนาสถานีหนองคายในระยะเร่งด่วน และระยะยาวในการพัฒนาพื้นที่ย่านนาทา โดยในปัจจุบัน ได้มีการขนส่งทางรถไฟระหว่าง ไทย-ลาว แล้วโดยมีการเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวัน และจากขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ ซึ่งจะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า ซึ่ง รฟท. ได้ปรับปรับปรุงพื้นที่สถานีหนองคาย 80 ไร่ ไว้เพื่อรองรับไว้แล้ว รวมถึงในระยะยาวจะมีการพัฒนาย่านสถานีนาทาให้เป็นสถานีตรวจปล่อยสินค้านานาชาติและเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยลงพื้นที่สำรวจรถไฟลาว-จีน และเข้าร่วมประชุมหารือกับรัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่งและคณะผู้แทนฝ่ายลาวโดยมีสาระสำคัญเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศจีน มายัง สปป.ลาว และประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าตลอดตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสามประเทศต่อไป