เรื่อง “เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำผิด ไม่ต้องรับโทษ” (เรื่อง กล้วย ที่ไม่กล้วย) โดย อัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ 10 ธค 2565
บทความทางกฎหมาย เรื่อง
เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำผิด ไม่ต้องรับโทษ (เรื่องกล้วย ที่ไม่กล้วย) *
สืบเนื่องจากข่าว หญิงชาว อ.ประโคนชัย บุรีรัมย์ แจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับ เด็กนักเรียน 8 คน อายุระหว่าง 5-12 ปี ในความผิดฐาน “ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ “หลังจากเรียกเด็กมาที่บ้านแล้วสอบด้วยตัวเอง พบกินกล้วยในห้องครัวหมดไป 1 หวี และมีทรัพย์สินภายในบ้านเสียหาย ต่อมาตำรวจรับลูก “ออกหมายเรียก “เด็กอนุบาลถึง ป.6” มารับทราบข้อกล่าว “ ร่วมกันบุกรุก และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” เรียกสินไหมรายละ 3,000 บาท แต่ต่อมาลดเหลือ รายละ 2,000 บาท
ต่อมามีการร้องเรียนจากชาวบ้าน ต.บ้านไทร อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ว่า มีเด็กนักเรียนอายุตั้งแต่ 5 ขวบถึง 12 ปี ถูกแจ้งความคดีอาญา โดยไม่เป็นธรรม เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก
จึงเกิดคำถามในสังคมว่า……
1 .เด็กอายุระหว่าง 5 – 12 ปี ถูกแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ ?
2.( หากถูกดำเนินคดีอาญาได้ ) เด็กอายุระหว่าง 5 – 12 ปี จะต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่ ?
3.หากต้องรับโทษตามกฎหมาย จะต้องได้รับโทษอย่างไร และ
4.การที่ พนักงานสอบสวน ออก “หมายเรียกผู้ต้องหา” ไปถึง เด็กอายุระหว่าง 5 – 12 ปี จะเป็นการ “ชอบด้วยกฎหมาย และเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ?
หลักกฎหมายในเรื่องนี้มีอยู่ว่า
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติว่า
“บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”
หมายความว่า…บุคคลใด ใครก็แล้ว หากได้กระทำการอันเป็นความผิดและการกระทำดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญาแล้ว บุคคลนั้นจะต้องรับโทษตามกฎหมายอาญา
เว้นแต่ การกระทำดังกล่าวจะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย เช่น การกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันมีผลทำให้ผู้กระทำการโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิด หรือไม่มีความผิด
หรือ ผู้นั้นกระทำด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าไม่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ หรือเรียกว่า มีเหตุยกเว้นโทษ
จะมีคำสำคัญอยู่ 2 คำ คือ “ ไม่ต้องรับผิด” และ “ไม่ต้องรับโทษ”
“ ไม่ต้องรับผิด” หมายถึง แม้การกระทำของผู้นั้นจะเข้าองค์ประกอบความผิด แต่กฎหมายบัญญัติให้ไม่ต้องรับผิด ผู้นั้นจึงไม่ต้องรับผิด
ส่วน “ไม่ต้องรับโทษ” หมายถึง การกระทำของผู้นั้นเข้าองค์ประกอบความผิด และถือว่าผู้นั้นได้กระทำผิด แต่ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษจากการกระทำความผิดฐานนั้น ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายบัญญัติให้ไม่ต้องรับโทษ
การที่ เด็กทั้งแปดคน ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของหญิงคนดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหญิงคนดังกล่าว และปราศจากเหตุอันควรแล้ว การกระทำของเด็กทั้งแปด อาจเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันบุกรุกเคหสถาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 , 83 และหากได้ความว่า เด็กทั้งแปดได้มีการลักเอากล้วยของหญิงคนดังกล่าวมากินจนหมดหวี และร่วมกันทำให้ทรัพย์สินภายในบ้านของหญิงคนดังกล่าวได้รับความเสียหายด้วยแล้ว ก็อาจเป็นความผิด ฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,358 , 83
แสดงว่า “ การกระทำของเด็กทั้งแปดคนจักต้องได้รับโทษทางอาญา ใช่หรือไม่ ?
คำตอบ คือ “ ไม่ใช่” เพราะ……..
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 และ 74 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 และมีผลบังคับใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ได้วางหลักไว้ดังนี้
“มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินสิบสองปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ”
“มาตรา 74 เด็กอายุ กว่าสิบสองปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควร จะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
(2) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดย วางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือ ผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงิน ตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น แต่ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่า ไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าวได้
(3) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็กตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี
ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
ในกรณีที่เด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่า ไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครอง เฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมึงานทำตามสมควร หรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้
คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) วรรคสอง และวรรคสามนั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาล โดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้”
กล่าวโดยสรุปได้ว่า
“ถ้าเด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี แม้จะได้กระทำผิดกฎหมาย เด็กนั้นก็ไม่ต้องรับโทษ
แต่ถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อย คือ เด็กอายุ เกินกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำผิดกฎหมาย เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษเช่นกัน แต่ไม่ใช่ เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษโดยปราศจากเงื่อนไขใดใด หากแต่กฎหมายบัญญัติให้ “ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการต่างๆแทนการรับโทษ ”ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขไม่ให้เด็กกลับมากระทำผิดอีก รวมถึงเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กด้วย
แปลความหมายได้ว่า เด็ก แม้จะอายุไม่เกิน 12 ปี หากได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดทางอาญา (เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย) การกระทำนั้นยังคงเป็นความผิด แต่เด็กนั้น (อายุไม่เกิน 12 ปี) ไม่ต้องรับโทษ
และเมื่อเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษแล้ว หากต่อมามีการส่งฟ้องศาล ศาลจักต้อง พิพากษา “ยกฟ้อง” ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ซึ่งบัญญัติว่า
“ ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด แต่เมื่อเห็นสมควรจะปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
มาดูว่า กรณีเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีกระทำผิด สำนักงานอัยการสูงสุด มีหลักในการสั่งคดีอย่างไร ?
หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส.0007 (พก)/ ว.235 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เรื่อง แนวทางการดำเนินงานของสำนักงานอัยการสูงสุดในการมีผลใช้บังคับของประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเกณฑ์อายุขั้นต่ำของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา
1.หากคดีอยู่ในระหว่างผัดฟ้อง – ให้พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อให้ศาลทราบว่า ผู้ต้องหานี้เป็นบุคคลซึ่งมีอายุไม่เกินกว่าอายุที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการผัดฟ้องและดำเนินการเกี่ยวกับผู้ต้องหาให้เป็นไปตามกฎหมายและแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อดำเนินการกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย
เมื่อพิจารณาสำนวนคดีแล้ว เห็นว่า
กรณีที่หนึ่ง เห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นเด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน12 ปี“ ได้กระทำ การอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดจริง ก็ให้พนักงานอัยการ “สั่งยุติการดำเนินคดี” โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 145 และ มาตรา 145/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะกฎหมายบัญญัติให้ไม่ต้องรับโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 73
กรณีที่สอง – ผู้ต้องหาเป็นเด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน12 ปี “ ไม่ได้กระทำ” การอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้มีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องต่อไป (เพราะเด็กนั้นไม่ได้กระทำผิดเลย)
นอกจากนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด ยังได้วางแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชน และครอบครัว ฯ มาตรา 86 (คดีมาตรการแทนการดำเนินคดีอาญา) ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวด้วย
จะเห็นได้ว่า “เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี แม้จะได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย เด็กนั้น ไม่ต้องรับโทษ” และ เมื่อเด็กไม่ต้องรับโทษ หากฟ้องคดีไป ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง และหากพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีมาที่พนักงานอัยการ ก็ต้องสั่ง “ยุติการดำเนินคดี” (แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิด แต่กฎหมายบัญญัติให้ไม่ต้องรับโทษ) แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้อง ( เพราะการกระทำนั้นไม่ผิดกฎหมาย)
ส่วนเด็กอายุเกินกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี กระทำผิด กฎหมายจะได้บัญญัติให้ “ ไม่ต้องรับโทษ” เช่นกัน แต่ก็ให้อำนาจศาลในการกำหนดมาตรการต่างๆแทนการกำหนดโทษ เด็กนั้นไม่ได้หลุดพ้นไปเลยเหมือนกับกรณีเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีกระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 73
การที่ พนักงานสอบสวน ดำเนินคดีอาญากับเด็กอายุระหว่าง 5 – 12 ปี ไม่ว่าจะเป็นการออก “หมายเรียกผู้ต้องหา” ไปยัง เด็กอายุระหว่าง 5 – 12 ปี ( ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ) โดยเฉพาะเป็น “ หมายเรียกผู้ต้องหา” ตลอดจน มีการให้ (ผู้ปกครองเด็ก) จ่ายค่าปรับหรือ จ่ายสินไหมทดแทน คนละ 2,000 บาท ( ยอมจ่ายไปแล้ว 4 คน ) ทั้งที่กฎหมายบัญญัติให้ เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี แม้จะได้กระทำผิดต่อกฎหมาย ก็ไม่ต้องรับโทษ ตาม ป.อ.มาตรา 73 จึงเป็นการไม่ชอบ
เพื่อให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า เหตุใด จึงมีการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 และ 74ให้ เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี แม้จะได้กระทำผิด แต่ก็ไม่ต้องรับโทษ
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ที่อายุยังไม่เกินสิบปี แต่จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าเด็กอายุสิบสองปีกับเด็กอายุสิบปีไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ อีกทั้งเด็กอายุไม่เกินสิบสองปีอยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทพความผิดเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก กรณีจึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กเพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุสิบปีแต่ไม่เกินสิบสองปีได้รับผลดียิ่งขึ้นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสพคัญเพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากรที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป ประกอบกับการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดจากอายุยังไม่เกินสิบปี เป็นอายุยังไม่เกินสิบสองปี เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ ๑๐ (ค.ศ. ๒๐๐๗) (General Comment No. 10 (2007) Children’s rights in juvenile justice) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on theRights of the Child– CRC) และประเทศไทยได้ตอบรับและให้ค ามั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่๒ (พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๓) อีกด้วยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์